ประเด็นเด่นวันนี้
- ผลผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเดือนมี.ค.2556 ขยายตัวในอัตราร้อยละ 0.2 (SA, MoM) นับเป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องติดกันเป็นเดือนที่สี่ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวดังกล่าว เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าร้อยละ 0.4 ที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การที่ผลผลิตอุตสาหกรรมโดยรวมส่งสัญญาณชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจยังต้องอาศัยเวลาพอสมควร ก่อนที่ผลของนโยบายการเงินผ่อนคลายเชิงรุกของทางการจะส่งผ่านสู่ภาคธุรกิจอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ดี การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่สี่ถือเป็นสัญญาณที่ดี อีกทั้งการปรับตัวดีขึ้นของผลผลิตในบางภาคอุตสาหกรรม อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ บ่งชี้ว่า ผลกระทบเชิงบวกของเงินเยนที่อ่อนค่าลง (ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว) ต่อการส่งออกของญี่ปุ่น ได้เริ่มส่งผ่านสู่บางอุตสาหกรรมแล้ว ทั้งนี้ ยังคงต้องจับตามองตัวชี้วัดด้านผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนต่อๆ ไปว่าอานิสงส์จากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงจะส่งผ่านสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้หรือไม่ และจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างมีเสถียรภาพต่อไปได้หรือไม่ โดยยังมีปัจจัยท้าทายจากเศรษฐกิจโลกที่ถูกกดดันจากปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป ที่อาจฉุดรั้งการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในระยะข้างหน้าได้
- ภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนมี.ค.2556 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าตามการใช้จ่ายภาคเอกชน ทั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุน อย่างไรก็ดี การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวดีต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมีเสถียรภาพ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ส่วนดุลการชำระเงินขาดดุลเล็กน้อย สำหรับภาพรวมในไตรมาส 1/2556 เศรษฐกิจทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยการใช้จ่ายในประเทศยังคงเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ การส่งออกสินค้าค่อยๆฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ด้านภาวะเศรษฐกิจโดยรวมมีเสถียรภาพ อัตราการว่างงานทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่วนเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อน เป็นผลจากดุลการชำระเงินที่เกินดุล และการไหลเข้ามาลงทุนโดยตรงและลงทุนในตลาดพันธบัตรของนักลงทุนต่างประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางการชะลอตัวของการใช้จ่ายในประเทศในไตรมาสแรกของปี 2556 สะท้อนให้เห็นถึงการทยอยกลับสู่ระดับปกติหลังจากเร่งตัวขึ้นมากในช่วงก่อนหน้า ซึ่งเมื่อประกอบกับภาพรวมการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังขยายตัวได้เล็กน้อย ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2556 อาจขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 5.3 (YoY) ชะลอลงจากที่ขยายตัวถึงร้อยละ 18.9 (YoY) ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 สำหรับในช่วงไตรมาสที่ 2/2556 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แนวโน้มความอ่อนแรงลงของภาคการใช้จ่ายในประเทศที่น่าจะยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยที่ยังไม่สมบูรณ์ ท่ามกลางความเปราะบางของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักและทิศทางค่าเงินบาท อาจส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2556 อาจขยายตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 4.3 (YoY)
Disclaimer
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วง หน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯจะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใด
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น