ประเด็นเด่นวันนี้
- คณะรัฐมนตรีจีนเผยว่า จีนกำลังอยู่ในระหว่างเตรียมการเปิดเสรีบัญชีทุนเคลื่อนย้าย (Capital Account) มากขึ้นในปีนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลดการควบคุมค่าเงินหยวนและอัตราดอกเบี้ย โดยแนวทางดังกล่าว อาจรวมถึงการอนุญาตให้นักลงทุนรายย่อยสามารถลงทุนในต่างประเทศ นอกจากนี้ ทางการจีนยังระบุว่า จะเฝ้าจับตาความเสี่ยงจากหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น และเดินหน้าขยายการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงทำการปฏิรูประบบทะเบียนราษฎร์ของประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการดังกล่าว เป็นหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลกลางในแผนการปฏิรูประบบการเงินของประเทศ ให้จีนเข้าสู่กลไกตลาดมากขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ-การเงินในประเทศ โดยเฉพาะการเร่งแก้ไขปัญหาหนี้รัฐบาลท้องถิ่นที่กำลังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของระบบสถาบันการเงินจีนในขณะนี้ โดยการปรับระบบภาษี ให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจภาคบริการ (จากเดิมที่เก็บจากภาคการผลิตเท่านั้น) เพื่อให้มีผลในการช่วยเพิ่มแหล่งรายรับของรัฐบาลท้องถิ่น และช่วยลดปัญหาความไม่สมดุลระหว่างรายรับ-รายจ่ายของรัฐบาลท้องถิ่นด้วยอีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น รัฐบาลกลาง ยังคงมีการออกมาตรการเพื่อสร้างเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน ซึ่งเป็นสัญญาณว่า การเปิดเสรีทางการเงินจะต้องดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป
- รัฐบาลผสมแนวร่วมแห่งชาติ (Barisan National; BN) หรือบีเอ็น นำโดยพรรค UMNO (The United Malays National Organization) ของนายนาจิบ ราซัก ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอีกครั้งจากการเลือกตั้งในวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยกลุ่มแนวร่วมบีเอ็นได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 133 ที่นั่ง จากทั้งหมด 222 ที่นั่ง ซึ่งน้อยกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2551 ที่กลุ่มแนวร่วมบีเอ็นได้ครองเสียงทั้งสิ้น 140 ที่นั่ง ทั้งนี้ จากผลการเลือกตั้ง นายนาจิบ ราซัก จะเป็นผู้นำในการบริหารประเทศต่ออีก 5 ปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความต่อเนื่องทางการเมืองดังกล่าว คงส่งผลให้ทิศทางนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของมาเลเซียจะยังคงเป็นไปตาม The New Economic Model หรือ NEM ที่นายราจิบ ราซักได้วางรากฐานไว้เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าประสงค์ที่จะนำพาประเทศไปสู่เศรษฐกิจรายได้สูงหรือ High-income Economy ที่รายได้ของประชาชนต่อหัวต่อปีถูกกำหนดไว้ที่ 15,000 ดอลลาร์ฯภายในปี 2563 อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นโยบายเศรษฐกิจที่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่สุดสำหรับมาเลเซียในขณะนี้ คือ การบริหารจัดการด้านเสถียรภาพทางการคลัง ซึ่งปัจจุบันสถานะหนี้ทางการคลังของมาเลเซียอยู่ที่ร้อยละ 53.5 ของจีดีพี และเข้าใกล้กรอบซึ่งรัฐบาลมาเลเซียได้กำหนดไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 55 ของจีดีพี ทั้งนี้ ในระยะอันใกล้ คาดว่าน่าจะเห็นความพยายามของรัฐบาลมาเลเซียในการดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) ใน 33 กิจการซึ่งเป็นของรัฐ ผ่านรูปแบบการขายกิจการแบบซื้อขาด (Outright Sale) การเสนอขายในตลาดหลักทรัพย์ (Public Listing) หรือการขายกิจการบางส่วน (Pare-down) โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจนี้น่าจะช่วยบรรเทาภาระทางการคลัง และจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ รวมไปถึงสร้างความคึกคักแก่ตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียได้ด้วยอีกส่วนหนึ่ง
Disclaimer
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วง หน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯจะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใด
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น