ประเด็นเด่นวันนี้
- การส่งออกของจีนขยายตัวเร่งขึ้นในเดือนเม.ย.2556 ที่ร้อยละ 14.7 (YoY) หลังจากที่ขยายตัวที่ร้อยละ 10.0 (YoY) ในเดือนมี.ค. นำโดย การส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี อาทิ คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน-แท็บเล็ต และส่วนประกอบ ขณะที่การนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 16.8 (YoY) ซึ่งเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน ส่งผลให้จีนพลิกกลับมาเกินดุลการค้าที่ 18.2 พันล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับในเดือนเม.ย.ของปี 2555 ที่อยู่ที่ระดับ 18.4 พันล้านดอลลาร์ฯ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวเร่งขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นสัญญาณในด้านบวกที่สะท้อนว่า ความต้องการต่อสินค้าจีนยังคงขยายตัวได้แม้ว่าเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า อย่างไรก็ดี คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การส่งออกของจีนยังคงต้องอยู่ภายใต้แรงกดดันจากภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังถูกถ่วงจากปัญหาหนี้ในยุโรปในระยะข้างหน้า และเพื่อยืนยันทิศทางการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออก อาจยังคงต้องจับตามูลค่าการส่งออกในเดือนต่อๆ ไป หลังล่าสุดทางการจีนมีนโยบายเข้าตรวจสอบรายงานมูลค่าการส่งออกที่รายงานโดยบริษัทผู้ส่งออกอย่างใกล้ชิด เพื่อสกัดกั้นการรายงานเท็จเพื่อนำเงินทุนเข้าประเทศหรือเพื่อเก็งกำไรค่าเงิน ขณะที่ในด้านการนำเข้าที่เร่งขึ้นเป็นเดือนที่ 2 นับเป็นสัญญาณที่ดีที่สะท้อนว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศกำลังขยายตัวได้ต่อเนื่อง
- อัตราการว่างงานของฟิลิปปินส์ล่าสุดเดือน ม.ค.ปรับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 7.1 จากร้อยละ 6.8 ในเดือน ธ.ค.ปีก่อนหน้า สวนทางกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2555 ที่สูงที่สุดในอาเซียน-5 (ร้อยละ 6.6) การสร้างงานที่ไม่เพียงพอต่อแรงงานในประเทศนับว่าเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ประธานาธิบดีเบนิโญ อาคิโนจึงมีเป้าหมายที่จะลดอัตราการว่างงานลงเหลือร้อยละ 6.0 ภายในปี 2559 ทั้งในส่วนของแผนการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ และการท่องเที่ยว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้มีการสร้างงานเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากในเขตกรุงมะนิลา รวมไปถึงการขยายการผลิตในภาคเกษตรและประมง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การขยายตัวที่โดดเด่นของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในปี 2555 ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของเงินโอนจากแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ มิได้เกิดจากการขยายตัวของภาคการผลิตในประเทศ ดังนั้น รัฐบาลฟิลิปปินส์จึงควรเร่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในธุรกิจที่มีการใช้แรงงานเป็นหลัก อาทิ อุตสาหกรรมการผลิต และธุรกิจในภาคการเกษตร เป็นต้น เนื่องจากหากอัตราว่างงานของฟิลิปปินส์ ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป อาจส่งผลให้เกิดช่องว่างระหว่างรายได้ของประชาชนมากขึ้นในอนาคต นำไปสู่ความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเพิ่มรายจ่ายด้านการบริการทางสังคม เช่น ด้านการศึกษา และสาธารณสุข ซึ่งนับเป็นภาระของรัฐบาลในระยะยาว
Disclaimer
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วง หน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯจะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใด
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น