Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 พฤษภาคม 2556

K-Econ Analysis

KR Daily Update ฉบับประจำวันที่ 10 พฤษภาคม 2556

คะแนนเฉลี่ย

ประเด็นเด่นวันนี้
- ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของจีน และเป็นรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก เตรียมจำหน่ายสมาร์ทโฟนในภูมิภาคแอฟริกาภายในสิ้นปี 2556 โดยมีแผนจะเริ่มจำหน่ายในไนจีเรียเป็นประเทศแรก ก่อนขยายตลาดไปยังอียิปต์เป็นเป้าหมายต่อไป เพื่อกระจายโครงสร้างธุรกิจไปสู่ตลาดสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต พร้อมทั้งมีแผนดึงส่วนแบ่งตลาดจากผู้ผลิตรายใหญ่ โดยที่บริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ของจีนรายนี้ จะแตกไลน์ธุรกิจเป็น 6 แบรนด์ในราคาที่แตกต่างกัน โดยคงจุดเด่นของผลิตภัณฑ์เหมือนกันคือ มีขนาดหน้าจอใหญ่ ระยะเวลาการใช้งานของแบตเตอร์รี่ยาวนาน และสามารถชาร์ตไฟได้ด้วยสาย USB ของโทรศัพท์ยี่ห้ออื่นได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ไนจีเรียเป็นประเทศในภูมิภาคแอฟริกาที่มีศักยภาพในการขยายตลาดสมาร์ทโฟน ด้วยขนาดเศรษฐกิจอันดับ 2 ของภูมิภาค (รองจากแอฟริกาใต้) มีประชากรสูงถึง 160 ล้านคน และมีโอกาสขยายตลาดสินค้าไอทีอีกมาก โดยในปี 2555 มียอดผู้ใช้บริการสัญญาณไร้สาย (Wireless) ถึง 113 ล้านคน ขณะที่จำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนยังมีจำนวนราว 5.6 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นเป็น 35 ล้านคนในปี 2560 (ข้อมูลโดย Informa Telecoms & Media) ประกอบกับไนจีเรียก็ยังนับว่าเป็นตลาดที่การแข่งขันยังไม่สูงนักเมื่อเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาคอย่างแอฟริกาใต้ อีกทั้งผู้ให้บริการส่วนใหญ่ยังเป็นธุรกิจท้องถิ่นในประเทศ จึงน่าจะเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจต่างชาติที่มีความพร้อมด้านเงินทุนและมีศักยภาพเพียงพอที่จะจับจองโอกาสในประเทศดังกล่าว ทั้งนี้ ธุรกิจไทยอาจได้อานิสงส์ในการขยายตลาดส่งออกอุปกรณ์เสริมสำหรับโทรศัพท์มือถือ/สมาร์ทโฟน ที่มีแนวโน้มขยายตัวตามความต้องการโทรศัพท์/สมาร์ทโฟนด้วย


- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พร้อมจะทบทวนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากค่าเงินบาทมีความผันผวนในระดับที่ผิดปกติ จนกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย รวมถึงพิจารณามาตรการเสริมอื่นๆ อีกด้วย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในการประชุม กนง. รอบวันที่ 29 พ.ค. นี้ มีโอกาสที่ กนง. อาจจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพื่อเป็นการลดแรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาท หลังธนาคารกลางประเทศต่างๆ ในหลายภูมิภาคเริ่มมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนภาคการส่งออก ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจส่งผลกระตุ้นการบริโภคและภาวะหนี้ครัวเรือนให้สูงขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย ดังนั้น หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังคาด ทางการมีความจำเป็นต้องพิจารณาใช้มาตรการเสริมอื่นๆ เพื่อชะลอความร้อนแรงของการบริโภคภาคครัวเรือนต่อไป

Disclaimer
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วง หน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯจะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใด



ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


K-Econ Analysis