ประเด็นเด่นวันนี้
- เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจจีนในเดือนเม.ย.2556 สะท้อนภาพขยายตัวที่ไม่ร้อนแรงนัก โดยการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรสะสมในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 20.7 (YoY) ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้เล็กน้อยที่ร้อยละ 21 (จากการสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์โดย Bloomberg) ขณะที่มูลค่าผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือนเม.ย. 2556 ขยายตัวที่ร้อยละ 9.3 (YoY) ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายทั้งปีที่กำหนดโดยรัฐบาลที่ร้อยละ 10 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การตัวชี้วัดเศรษฐกิจจีนในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 สะท้อนภาพการขยายตัวที่ไม่ร้อนแรงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งคงเป็นผลมาจากความพยายามของทางการในการชะลอความร้อนแรงของการลงทุนภายในประเทศ เพื่อให้ความสำคัญกับคุณภาพการลงทุน และเพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของหนี้รัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อระบบสถาบันการเงินจีนและก่อให้เกิดความกังวลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจจีนอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ ด้วยท่าทีของรัฐบาลกลางจีนในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การคุมเข้มการลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่น ตลอดจนความพยายามลดความร้อนแรงในภาคอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับผลของความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่กดดันการส่งออก อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนไม่สามารถขยายตัวได้อย่างหวือหวานักในปี 2556 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในปี 2556 ไว้ที่ร้อยละ 7.9 ซึ่งใกล้เคียงกับในปี 2555 ที่อยู่ที่ร้อยละ 7.8
- มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ออกมาเตือนถึงความเสี่ยงอันเกิด Shadow Banking ในระบบเศรษฐกิจจีน อันรวมถึงการปล่อยกู้บุคคล การปล่อยสินเชื่อโดยกลุ่ม Non-Bank และทรัสต์ รวมถึงการปล่อยกู้นอกงบดุลธนาคารผ่านการระดมทุนผ่าน Wealth Management Products ซึ่งมีการเติบโตอย่างมากในจีน โดยมูลค่าของ Shadow Banking ขยายตัวจาก 17.3 ล้านล้านหยวนในปี 2555 มาอยู่ที่ 29 ล้านล้านหยวนในปี 2556 ทั้งนี้ การขยายตัวอย่างก้าวกระโดดของ Shadow Banking อาจนำมาสู่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพตของระบบสถาบันการเงินจีนในระยะต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การขยายตัวอย่างรวดเร็วของ Shadow Banking ในจีน อาจจะยังไม่ส่งผลกระทบที่ชัดเจนนักในช่วงที่เศรษฐกิจจีนยังสามารถที่จะขยายตัวได้ดีอยู่ อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า การขยายตัวของ Shadow Banking โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระดมทุนผ่านผลิตภัณฑ์บริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management Products) อันเป็นเครื่องมือหลักของการระดมทุนของรัฐบาลท้องถิ่น อาจจะสร้างความเสี่ยงให้กับระบบสถาบันการเงินของจีน รวมทั้ง ความเสี่ยงต่อภาระทางการคลังของรัฐบาลจีนในอนาคต หากการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างมากจากระดับในปัจจุบัน อาจก่อให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพหนี้ต่อไปเป็นลูกโซ่ รวมถึงหากการลงทุนของโครงการที่ระดมทุนจากผลิตภัณฑ์บริหารความมั่นคั่ง ไม่ประสบความสำเร็จ ก็อาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น และอาจกลายเป็นปัญหาทางการคลังของรัฐบาลกลางต่อไป
Disclaimer
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วง หน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯจะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใด
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น