Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 พฤษภาคม 2556

K-Econ Analysis

KR Daily Update ฉบับประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 2556

คะแนนเฉลี่ย

ประเด็นเด่นวันนี้
- ยอดขายรถยนต์ในจีนช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 อยู่ที่ 5.86 ล้านคัน ขยายตัวร้อยละ 16.0 (YoY) โดยในเดือนเม.ย. มียอดขายที่ 1.84 ล้านคัน หรือขยายตัวร้อยละ 13.4 (YoY) สำหรับภาพรวมของการผลิตรถยนต์ในช่วง 4 เดือนแรกนั้น อยู่ที่ 7.297 ล้านคัน ขยายตัวร้อยละ 13.4 (YoY) ขณะที่ ยอดผลิตรถยนต์เดือนเม.ย.ล่าสุด มีจำนวน 1.89 ล้านคัน ขยายตัวร้อยละ 15.3 (YoY) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ในจีนเดือนเม.ย. 2556 ที่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับ 2 หลักนั้น นอกจากจะสะท้อนการตอบรับของผู้บริโภคต่อโมเดลรถรุ่นใหม่แล้ว ยังบ่งชี้ว่า การใช้จ่ายภายในประเทศของจีนยังสามารถรักษาทิศทางการขยายตัวไว้ได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย อย่างไรก็ดี การเติบโตของตลาดรถยนต์ในจีน ก็จูงใจให้ผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ต่างชาติเข้ามาจับตลาดธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ควบคู่กับการผลิตในจีน ซึ่งย่อมทำให้สภาวะการแข่งขันของธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในจีนมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยในปัจจุบัน ผู้ประกอบการแบรนด์ต่างชาติมักมีกลยุทธ์ทำตลาดบริเวณมณฑลที่มีรายได้ระดับสูง โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันออก ตอนเหนือและตอนใต้ของจีน ก่อนรุกขยายตลาดเข้าพื้นที่ตอนในของประเทศที่เริ่มมีการขยายตัวด้านการบริโภคตามกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ ทั้งนี้ การขยายตลาดรถยนต์ดังกล่าว นับเป็นเครื่องสะท้อนถึงทิศทางการขยายตัวของกำลังซื้อผู้บริโภคบริเวณมณฑลตอนในของจีนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งธุรกิจไทยอาจอาศัยโอกาสขยายตลาดจับกลุ่มผู้บริโภคที่เริ่มมีกำลังซื้อสูงขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวตามไปด้วย

- ดัชนีราคาค้าส่ง (Wholesale Price Index: WPI) ของอินเดียเดือนเม.ย. 2556 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.89 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 5.96 (YoY) ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำที่สุดในรอบ 41 เดือน และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.5 ของนักวิเคราะห์ค่อนข้างมาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สัญญาณชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อ (ที่พิจารณาจากดัชนีราคาค้าส่ง) ดังกล่าว เป็นจุดสำคัญที่ต้องจับตามอง เพราะนับเป็นการกลับเข้าสู่กรอบร้อยละ 4-5 ที่เป็น Comfort Zone ของธนาคารกลางอินเดีย เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ดังนั้น หากสัญญาณเงินเฟ้อที่ผ่อนคลาย ยังคงภาพที่ต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ก็อาจเป็นตัวสะท้อนว่า ธนาคารกลางอินเดียจะมีพื้นที่มากขึ้นในการใช้นโยบายการเงินเชิงผ่อนคลาย เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอินเดียที่กำลังอยู่ในช่วงชะลอตัว

Disclaimer
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วง หน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯจะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใด



ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


K-Econ Analysis