ประเด็นเด่นวันนี้
- เศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 1/2556 หดตัวมากเกินคาดที่ร้อยละ 0.2 (QoQ) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (ตลาดคาดว่า จะหดตัวร้อยละ 0.1) ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 0.6 ในไตรมาส 4/2555 และทำให้ภาวะถดถอยของยูโรโซนกินเวลายาวนานแล้ว 6 ไตรมาสต่อกัน นำโดย เศรษฐกิจเยอรมนีที่พลิกกลับมาขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 ไตรมาส 1/2556 ซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ขณะที่ ฝรั่งเศสก็ต้องเผชิญกับภาวะถดถอยทางเทคนิค หลังจากที่เศรษฐกิจหดตัวต่อเนื่องอีกร้อยละ 0.2 ส่วนอิตาลีและสเปนนั้น แม้จีดีพีจะหดตัวน้อยลงมาที่ร้อยละ 0.5 แต่กินเวลายาวนานแล้ว 7 ไตรมาสติดต่อกัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การหดตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนที่มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ไม่เพียงจะตอกย้ำว่า วิกฤตหนี้ยูโรโซนยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญของเศรษฐกิจโลกเท่านั้น แต่ยังอาจสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะต้องพิจารณาเครื่องมือ (นอกเหนือจากดอกเบี้ย) อื่นๆ มาช่วยสร้างสภาวะผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม ซึ่งก็เป็นนัยว่า ค่าเงินยูโรและความเชื่อมั่นของนักลงทุน ยังน่าจะมีความอ่อนไหวต่อสัญญาณในเชิงลบจากเศรษฐกิจยูโรโซนอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจยูโรโซนในปี 2556 มีแนวโน้มที่จะหดตัวลงติดต่อกันเป็นปีที่ 2 อีกร้อยละ 0.4 (กรอบประมาณการอยู่ในช่วงหดตัวร้อยละ 0.8-ขยายตัวร้อยละ 0.1) หลังจากที่หดตัวลงร้อยละ 0.6 ในปี 2555 ซึ่งสำหรับผลกระทบต่อไทยนั้น อาจสะท้อนผ่านมายังทิศทางการส่งออกของไทยไปยังประเทศในแถบยูโรโซน/ยุโรป ที่อาจจะฟื้นตัวล่าช้ากว่าตลาดส่งออกอื่นๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทย จึงควรเตรียมการวางแผนรับมือจากผลกระทบดังกล่าว โดยอาจหันมามุ่งเน้นการทำตลาดภายในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น
- จากสัญญาณของนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมตรีของจีน ทำให้คาดว่า มีโอกาสน้อยมากที่ทางการจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในปีนี้ แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจจีนนับจากต้นปี 2556 ยังสะท้อนภาพการฟื้นตัวที่ล่าช้า โดยไตรมาส 1/2559 เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 7.7 (YoY) ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดในเดือนเม.ย. 2556 ก็ยังคงมีสัญญาณปะปน อนึ่ง นายหลี่ เค่อเฉียงมีแนวคิดในการลดบทบาทของภาครัฐในระบบเศรษฐกิจลง และให้ความสำคัญกับการลงทุนภาคเอกชนมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ทางการจีนมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับการลงทุนภาคเอกชนมากขึ้น เพื่อให้เป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านเม็ดเงินลงทุนและการเพิ่มการจ้างงาน ซึ่งน่าที่จะนำไปสู่รากฐานของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนกว่าการขับเคลื่อนจากภาครัฐเพียงลำพัง อย่างไรก็ตาม อุปสรรคที่สำคัญของนักลงทุนขณะนี้คือ ความไม่สะดวกเกี่ยวกับขั้นตอนการขออนุมัติการลงทุน จากรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งบางครั้งใช้เวลายาวนานถึง 6-10 เดือน โดยในช่วงหลังจากนี้ ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการไปลงทุนในจีนแล้ว ในช่วงหลังจากนี้ อาจต้องติดตามความคืบหน้าในการปรับเปลี่ยนแนวทางกระจายอำนาจการอนุมัติการลงทุนภาคเอกชน ที่น่าจะเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่รัฐบาลท้องถิ่นมากขึ้น
Disclaimer
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วง หน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯจะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใด
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น