ประเด็นเด่นวันนี้
- GDP ของญี่ปุ่นประจำไตรมาส 1/2556 ขยายตัวร้อยละ 3.5 (Annualized, SA, QoQ) ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดในรอบ 4 ไตรมาส หลังจากที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.0 ในไตรมาส 4/2555 โดยการขยายตัวดังกล่าวได้รับปัจจัยหนุนจากการบริโภคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 (Annualized, SA, QoQ) การลงทุนในที่อยู่อาศัยของเอกชน (Private Residential Investment) ที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 (Annualized, SA, QoQ) และการส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 16.1 (Annualized, SA, QoQ) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อัตราการขยายตัวของจีดีพีญี่ปุ่นที่ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 1/2556 คงเป็นผลสืบเนื่องจากการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเชิงรุกของธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งนำไปสู่การอ่อนค่าของเงินเยนอย่างรวดเร็ว และช่วยให้การส่งออกของญี่ปุ่นสามารถขยายตัวได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับในไตรมาส 4/2555 ซึ่งหดตัวร้อยละ 11.3 (Annualized, SA, QoQ) นอกจากนี้ นโยบายการเงินเชิงรุกดังกล่าวยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และนำมาซึ่งการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวขึ้นด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังคาดว่า นโยบายการเงินเชิงรุกจะยังคงส่งผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องภายในปีนี้ อย่างไรก็ดี ทางการญี่ปุ่นยังคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการบรรลุเป้าหมายสำคัญ อันได้แก่ การแก้ไขปัญหาเงินฝืด หลังจากที่ GDP Deflator ในไตรมาส 1/2556 ยังคงหดตัวที่ร้อยละ 1.2 (YoY)
- อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในไตรมาส 1/2556 ขยายตัวชะลอลงที่ระดับร้อยละ 4.1 (YoY) เทียบกับไตรมาส 4/2555 ที่อยู่ในระดับที่ 6.5 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 5.2 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซียทั้งปีน่าจะยังคงอยู่ในกรอบร้อยละ 4.4-5.2 เนื่องจากมูลค่าการส่งออกลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ จากการลดลงของอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของมาเลเซียในครึ่งปีหลังของปี 2556 น่าจะยังคงขยายตัวได้อย่างดี จากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นสำคัญ เนื่องจากนโยบายทางด้านการคลังของประเทศยังคงเน้นการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ อาทิ การก่อสร้างรถไฟฟ้าสาย 2 ของกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งคาดว่าน่าจะได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีภายในเดือน ก.ค. 2556 โดยมูลค่าการก่อสร้างโครงการจะอยู่ที่ประมาณ 25,000 ล้านบาท รวมถึงโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยบริเวณ Klang Valley ซึ่งเป็นบริเวณที่รถไฟฟ้าจะเข้าถึง โดยทั้งสองโครงการดังกล่าว จะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ภาคธุรกิจการก่อสร้างของประเทศขยายตัวได้ดี และส่งผลให้เกิดผลทวีคูณของการใช้จ่ายภาครัฐ (Multiplier Effect of Government Spending) อันนำไปสู่การขยายตัวของ GDP อีกต่อหนึ่ง ส่วนแนวนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งนำพาประเทศมาเลเซียไปสู่กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง (High Income Economy) ก็เริ่มจะเห็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งในด้านธุรกิจบริการการเงิน และ ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกของประเทศ อันส่งผลให้ภาคธุรกิจบริการของประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในระยะถัดไป
Disclaimer
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วง หน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯจะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใด
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น