Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 พฤษภาคม 2556

K-Econ Analysis

KR Daily Update ฉบับประจำวันที่ 17 พฤษภาคม 2556

คะแนนเฉลี่ย

ประเด็นเด่นวันนี้
- คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีนประกาศสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ บริเวณพื้นที่ฝั่งตะวันตกของจีน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย. 2556 เป็นต้นไป หลังจากเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2554 ทางการจีนได้ถอนอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ออกจากรายชื่ออุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนการลงทุน เพื่อแก้ไขปัญหากำลังการผลิตยานยนต์ที่สูงเกินไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การที่ทางการจีนปรับทิศทางนโยบายการส่งเสริมการลงทุน โดยกลับมาให้การสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมยานยนต์ น่าจะเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศจีนเป็นสำคัญ หลังจากที่รายงานตัวเลข FDI ที่ไหลเข้าสู่จีนชะลอตัวลงจาก 1.24 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือน มี.ค.2556 เหลือเพียง 8.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือน เม.ย. 2556 และคิดเป็นอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ การที่ทางการจีนมุ่งสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่เป้าหมายฝั่งตะวันตกของประเทศ น่าจะเป็นการช่วยกระจายพื้นที่อุตสาหกรรมสู่พื้นที่ตอนในของประเทศ อันจะเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจของมณฑลหัวเมือง และสอดคล้องกับนโยบายการกระจายความเป็นเมืองของจีนด้วย ทั้งนี้ ในส่วนของธุรกิจไทย ก็อาจได้อานิสงส์ในการขยายตลาดเข้าไปลงทุนในพื้นที่ตอนในของจีนเพื่อสนับสนุนห่วงโซ่การผลิตของธุรกิจต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวได้อีกทางหนึ่งด้วย

- กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ว่าที่ประชุมกำหนดให้บีโอไอจัดทำยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ให้แล้วเสร็จ และเสนอให้บอร์ดบีโอไอพิจารณาเห็นชอบภายในเดือนธ.ค. 2556 รวมทั้งกำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.2558 โดยร่างเบื้องต้นของยุทธศาสตร์ใหม่ บีโอไอมีแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนจากเดิมที่ให้ส่งเสริมเกือบทุกกิจการมาเป็นส่งเสริมแบบมีเป้าหมายชัดเจนเน้น 10 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ นอกจากนี้ จะมีการปรับเปลี่ยนการส่งเสริมตามเขตพื้นที่เป็นการส่งเสริมให้เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ในภูมิภาค (New Regional Clusters) สำหรับการให้สิทธิประโยชน์แก่โครงการที่ได้รับส่งเสริมภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. สิทธิประโยชน์พื้นฐาน (Basic Incentives) และ 2. สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ (Merit-based Incentives) ซึ่งเป็นส่วนที่บีโอไอต้องการเน้นส่งเสริมให้โครงการลงทุนได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แม้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่อาจส่งผลให้สิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนลดลงหรือถูกยกเลิกไปในบางประเภทกิจการ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นพึ่งพาแรงงานในการผลิตเป็นหลัก ซึ่งอาจกระทบความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมดังกล่าว แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า โดยภาพรวมแล้ว ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในไทย (FDI) มากนัก เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักส่วนใหญ่ที่ไทยยังต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ อาทิ ยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยังคงได้รับประโยชน์จากแผนการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าว ขณะที่ ไทยมีศักยภาพในการรองรับอุตสาหกรรม ทั้งความพร้อมด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน Supplier ในห่วงโซ่อุตสาหกรรม แรงงานกึ่งทักษะที่มีศักยภาพและทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมแก่การเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าในภูมิภาคอินโดจีน ผนวกกับโอกาสจากการเปิดเสรีการค้าในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่กำลังจะมาถึงในปี 2558 อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนแรงงานมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างไม่ควรมองข้าม ซึ่งภาครัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจนมากขึ้นในการรับมือต่อประเด็นดังกล่าว

Disclaimer
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วง หน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯจะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใด



ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


K-Econ Analysis