Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 กรกฎาคม 2562

Econ Digest

โอกาสทางการตลาด เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดไทย มาแล้ว

คะแนนเฉลี่ย
เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) ผลิตได้จากการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น แกลบ ซังข้าวโพด เหง้ามันสำปะหลัง กะลาปาล์ม เปลือกไม้ เศษไม้หรือขี้เลื่อยจากโรงงานแปรรูปไม้หรือเฟอร์นิเจอร์ มาย่อย ลดความชื้น และนำมาอัดเป็นเม็ดหรือแท่ง ได้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลที่มีความชื้นต่ำ มีค่าความร้อนสูง สะดวกต่อการขนส่ง และสามารถเก็บสต็อกวัตถุดิบได้นาน เหมาะสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตความร้อนในภาคอุตสาหกรรมหรือโรงไฟฟ้า ในต่างประเทศมีความต้องการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดค่อนข้างสูง จากกระแสสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน

ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีความต้องการเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดเพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่กำลังทยอยเปิดเพิ่มขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ญี่ปุ่นต้องการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด เพิ่มจาก 1.2 ล้านตันในปี 2562 มาเป็น 5 ล้านตันในปี 2565 และไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพทางด้านวัตถุดิบในการผลิต โดยเฉพาะจากการโค่นต้นยางปีละประมาณ 4 แสนไร่ ซึ่งนอกจากจะได้เนื้อไม้แปรรูปเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้แปรรูปแล้ว ผลพลอยได้ประเภทเศษไม้ เศษขี้เลื่อย ยังสามารถป้อนเป็นวัตถุดิบผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดได้ถึงประมาณ 8 ล้านตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าเชิงเศรษฐกิจกว่า 30,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะเป็นเครื่องชี้ถึงความสำเร็จของโอกาสที่ไทยจะสามารถเพิ่มบทบาทการส่งออกเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดไปยังญี่ปุ่นคือ การสร้างความมั่นใจให้กับผู้นำเข้า ทั้งด้านปริมาณและความต่อเนื่องของวัตถุดิบที่มีความยั่งยืนตลอดช่วงอายุสัญญาซื้อขาย เนื่องจากการสั่งซื้อจากญี่ปุ่นส่วนมากเป็นการทำสัญญาระยะยาว 10-20 ปี ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการของไทย อาจใช้โอกาสจากความพร้อมในด้านต่างๆ พัฒนาผลิตภัณฑ์จาก White Pellet มาเป็น Black Pellet ที่มีค่าความร้อนสูงกว่า พร้อมทั้งขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ได้อีกด้วย

#เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด #WoodPellet #วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest