Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 พฤศจิกายน 2565

Econ Digest

การเข้าถึง...บริการทางการเงินของไทย อยู่ในระดับใดเมื่อเทียบกับ APEC?

คะแนนเฉลี่ย

​    การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ในปี 65 นี้ มีหัวข้อหลักคือ เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล (Open. Connect. Balance.) ซึ่งสะท้อนความพยายามในการผลักดันเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิกไปสู่ทิศทางแห่งความยั่งยืน เพื่อให้เกิดการการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม หรือ   Inclusive Growth   ที่สนับสนุนให้มีแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน และส่งเสริมให้คนทุกกลุ่มในสังคมได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม โดยหนึ่งในแนวทางการผลักดันนั้นจะต้องอาศัยการสนับสนุนให้กลุ่มคนต่างๆ ในสังคมเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบ (Financial Inclusion)  บนความคาดหวังว่าการได้รับเงินทุนที่เพียงพอ ในต้นทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยง และรวดเร็ว จะช่วยให้บุคคลหรือกิจการเหล่านั้น สามารถขยายการลงทุนและเพิ่มโอกาสทางรายได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต


    ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า อัตราการเข้าถึงบริการทางการเงินของไทยส่วนใหญ่อยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของ APEC โดยจากข้อมูลของธนาคารโลก หรือ World Bank ชี้ว่า ปี 64 ไทยมีสัดส่วนการมีจำนวนบัญชีทางการเงินกับสถาบันการเงินในระบบ (เทียบกับจำนวนประชากรที่อายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไปทั้งหมด) การออมเงินที่สถาบันการเงินและการทำธุรกรรมชำระเงินทางดิจิทัล ในสัดส่วน  95.6% 67.1% และ 92% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ APEC ซึ่งอยู่ที่ 82.1% 61.4%  และ 78.1 % ตามลำดับ นอกจากนี้ ไทยยังมีความโดดเด่นในมิติของการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล  โดยในปี 64 มีสัดส่วนของประชากรที่ทำธุรกรรมชำระเงินราว 92% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของ APEC ที่ 78.1% ทั้งนี้ ทิศทางดังกล่าวสามารถต่อยอดไปสู่การเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อ รวมถึงสร้างความเชื่อมโยงด้านการชำระเงินกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ได้ และเป็นแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน


    อย่างไรก็ตาม ในด้านการเข้าถึงบริการสินเชื่อ รวมถึงบัตรเครดิตและบัตรเดบิต ไทยยังคงมีสัดส่วนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ APEC ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ที่ไทยสามารถพัฒนาเพิ่มเติมได้  โดยข้อมูลจาก World Bank ชี้ว่า อัตราการใช้บริการสินเชื่อจากสถาบันการเงินในระบบของไทยอยู่ที่  30.4% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ APEC ที่  38.2%  จากข้อจำกัดด้านสถานะทางการเงินหรือรายได้ไม่เพียงพอ ไม่รู้จักไม่มีความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์สินเชื่อ และไม่กล้าไปติดต่อสถาบันการเงิน เนื่องจากกลัวถูกปฎิเสธ ขณะที่ มีประชากรไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่เลือกจะยังไม่ใช้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เนื่องจากยังไม่จำเป็นต้องใช้ (Self-Exclusion) ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่า  ทางการไทยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องคงต้องเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย ไปพร้อมกับการเดินเกมเพื่อเพิ่มอัตราการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ผ่านแนวต่างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการทั้งแบงก์และนอนแบงก์ การช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมให้กับผู้ให้บริการสินเชื่อ การเปิดโอกาสให้ผู้เล่นสามารถเข้าถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การให้ความรู้ทางการเงินและเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงปัญหาที่อาจจะตามมาของการใช้หนี้นอกระบบ  รวมไปถึงการสร้างและส่งเสริมอาชีพ อันเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อและหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน




 


Click
 ชมคลิป การเข้าถึง...บริการทางการเงินของไทยอยู่ในระดับใดเมื่อเทียบกับ APEC?


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest