Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 พฤษภาคม 2563

Econ Digest

หลังโควิด-19 ผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วน เร่งปรับกลยุทธ์การผลิต

คะแนนเฉลี่ย

​การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไทย โดยกดดันสู่จุดต่ำสุดในรอบกว่า 9 ปี ด้วยปริมาณการผลิตที่อาจหดตัวสูงถึง 25% หรือผลิตได้ราว 1,520,000 คัน ขณะที่การส่งออกอาจทำได้เพียง 750,000 คัน หรือลดลงกว่า 29% อีกทั้งตลาดในประเทศที่เผชิญกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจ อาจทำให้ยอดขายลดลงถึง 21% หรือประมาณ 800,000 คัน คาดว่า การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์เข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง อาจเป็นช่วงกลางปี 2564 หรือต้นปี 2565

หลังเกิดกรณีชัตดาวน์การผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนในจีน ที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไปทั่วโลก สิ่งที่ค่ายรถอาจต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นมากขึ้นในระบบการผลิต คือการกระจายความเสี่ยงจัดหาชิ้นส่วนรถยนต์ในห่วงโซ่อุปทาน โดยแนวทางที่ค่ายรถนำมาใช้อาจแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ การผ่อนคลายระบบการผลิตแบบ Just In Time ลง เพราะการมีสต็อกวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่เตรียมไว้น้อย กลับเป็นผลเสียต่อทั้งห่วงโซ่อุปทาน ส่วนอีกแนวทางหนึ่งคือ การย้ายฐานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์บางกลุ่มออกจากจีน ไปรวมศูนย์ยังฐานการผลิตระดับยุทธศาสตร์ของภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ของต้นทุนการผลิตต่ำ พร้อมทั้งมีขนาดกำลังการผลิตที่ใหญ่มากพอ ซึ่งไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศตัวเลือกของค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วน

นอกจากนี้ พฤติกรรมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงด้วยการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล เริ่มเข้ามาสู่กระบวนการผลิตในโรงงาน เพื่อป้องกันการติดเชื้อและควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด ทำให้โรงงานประกอบรถยนต์และผลิตชิ้นส่วน มีแนวโน้มที่จะจัดสภาพการทำงานของพนักงาน ให้สอดคล้องตามหลักการ Social Distancing รวมถึงการนำหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติต่างๆ เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตอย่างเข้มข้น แม้ในระยะสั้นจะทำให้ต้นทุนเพิ่ม แต่ในระยะยาวจะสามารถบริหารจัดการต้นทุนและคุณภาพสินค้าได้ดีขึ้น และลดความเสี่ยงจากปัญหาที่เกิดจากคนงานลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้จะก่อให้เกิดการชะงักงันครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย แต่ในอีกทางหนึ่งอาจเป็นโอกาสให้กับไทย ถ้าหากมีการเตรียมพร้อมเพื่อดึงดูดการลงทุนอย่างเหมาะสมในอนาคต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest