Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 กุมภาพันธ์ 2564

Econ Digest

เงินบาทเดินหน้าแข็งค่าต่อเนื่อง…อุตสาหกรรมการผลิตไทยไปต่อยังไงดี ?

คะแนนเฉลี่ย
  เงินบาทของไทยยังคงเดินหน้าแข็งค่าต่อเนื่องจากปีก่อน ในปัจจุบันเคลื่อนไหวอยู่ที่ราว 30 บาทต่อดอลลาร์ฯ นับว่าแข็งค่าถึง 32.1% เทียบกับช่วงที่ปล่อยลอยตัวเงินบาทในปี 2540 และกระแสบาทแข็งยังน่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไปอย่างน้อยตลอดปี 2564 ซึ่งการส่งออกของไทยเป็นด่านแรกที่ได้รับผลกระทบนี้ทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอาเซียนไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย โดยเฉพาะเวียดนามที่มีโครงสร้างการผลิตและส่งออกคล้ายคลึงกับไทย อีกทั้งมีค่าเงินอ่อนค่าเรื่อยมายิ่งเพิ่มแต้มต่อให้สินค้าเวียดนามมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกเวียดนามขยับขึ้นแซงหน้าไทยได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในปี 2562 มีส่วนแบ่งในตลาดโลก 1.4% ขณะที่ส่วนแบ่งของไทยอยู่ที่ 1.3%  แทบไม่เปลี่ยนแปลงตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา 
บาทเข็งค่าเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลทางอ้อมต่อการลงทุนในไทย เมื่อประกอบกับค่าจ้างแรงงานและต้นทุนการผลิตอื่นๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น ยิ่งกดดันให้ FDI ที่เข้าสู่ไทยลดน้อยลงเหลือเพียง 1.3% ต่อ GDP ในปี 2562 สวนทางกับเวียดนามที่สามารถดึงดูด FDI เร่งตัวขึ้นมาเป็น 6.0% ต่อ GDP ในปีเดียวกัน ผลักดันให้เวียดนามมีศักยภาพในการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นกลางในกลุ่มเดียวกับไทยได้อย่างน่าจับตา ขณะที่โครงสร้างการส่งออกของไทยยังเหมือนกับ 20 ปีก่อน เห็นได้จากการส่งออกสินค้าสำคัญ 30 อันดับแรกของไทยในปี 2544 ซึ่งเป็นสินค้าเทคโนโลยีในกลุ่มรถยนต์ HDDs ปิโตรเคมี เครื่องปรับอากาศ ยางล้อรถยนต์ครองสัดส่วน 41% ของการส่งออกไทย มาจนถึงปี 2562 ก็ยังเป็นสินค้ากลุ่มเดิมแม้มีสัดส่วนขยับขึ้นเป็น 51% ขณะที่เวียดนามก็เริ่มผลิตและส่งออกสินค้าแบบเดียวกับไทยได้ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 36% ของการส่งออกของเวียดนามในปี 2562 จากเดิมที่ส่งออกได้เพียง 11% ในปี 2544 ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะยิ่งกดดันการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า
                  เมื่อพิจารณาผลกระทบบาทแข็งต่อธุรกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า บาทแข็งส่งผลกระทบต่อการทำกำไรของภาคธุรกิจที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศมากกว่าธุรกิจที่เน้นจับตลาดในประเทศ แต่ระดับผลกระทบอาจลดน้อยลงได้หากผู้ประกอบการสามารถสร้างสมดุลระหว่างการส่งออกสินค้าและการนำเข้าปัจจัยการผลิต (Natural Hedge) โดยแบ่งได้ดังนี้
            ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมากสุดจะอยู่ในกลุ่มที่พึ่งพิงตลาดส่งออกเป็นหลัก... โดยเฉพาะการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นกลาง-ต่ำ ซึ่งมีคู่แข่งหลายรายจากผู้ผลิตในอาเซียน จึงมีความเสี่ยงจะสูญเสียรายได้จำนวนมาก ประกอบกับถ้าธุรกิจนั้นใช้วัตถุดิบในประเทศสัดส่วนที่สูงอย่างการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราใช้วัตถุดิบในประเทศราว 74% จึงแทบไม่ได้อานิสงส์บาทแข็งจากการนำเข้าวัตถุดิบ ผลกำไรที่ลดลงจึงมากกว่าธุรกิจอื่น ขณะที่การผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ในไทย มักเป็นสินค้าที่มีเทคโนโลยีไม่สูงจึงยากจะแข่งขันกับสินค้าจากคู่แข่งที่มีต้นทุนต่ำกว่าและได้ประโยชน์จากค่าเงินอ่อน
               ผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบน้อยลงหากมีการพึ่งพาตลาดในประเทศมากขึ้น...โดยรายได้จากตลาดในประเทศจะเข้ามาช่วยบรรเทาผลกระทบจากรายได้ภาคต่างประเทศที่ลดลง อีกทั้งถ้าผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตโลกอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ยิ่งต้านทานกับกระแสบาทแข็งค่าได้ดีกว่าธุรกิจอื่นๆ แม้ว่าจะใช้ปัจจัยการผลิตในไทย (Natural Hedge สูง) ขณะที่ธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบในประเทศในสัดส่วนที่สูงอย่างอาหารแปรรูปและเครื่องนุ่งห่ม (Natural Hedge ต่ำ) ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก สำหรับ SMEs ที่จำหน่ายในประเทศเป็นหลักก็จะปิดความเสี่ยงจากค่าเงินไปโดยปริยาย
            ​ ผู้ประกอบการที่ได้อานิสงส์จากบาทแข็งคือกลุ่มพึ่งพิงตลาดในประเทศเป็นหลัก…โดยเฉพาะผู้ผลิตรายใหญ่และนำเข้าปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศได้ประโยชน์ชัดเจน อาทิ การผลิตยารักษาโรคล้วนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบถึง 30% และส่วนใหญ่ 90% ก็ผลิตเพื่อผู้ป่วยในไทย เช่นเดียวกับการผลิตเครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์กระดาษ 
ดังนั้น เพื่อรับมือกับแนวโน้มบาทแข็งที่จะยังอยู่กับเราไปอีกระยะหนึ่ง ภาคธุรกิจส่งออกยังคงต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับการผลิตสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการบริหารจัดการและปิดความเสี่ยงด้านค่าเงิน โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศมีความเสี่ยงที่จะต้านทานกับกำไรที่ลดลงได้น้อยกว่าธุรกิจรายใหญ่ จึงควรเพิ่มสัดส่วนตลาดในประเทศเพื่อช่วยลดผลกระทบจากรายได้ต่างประเทศที่ลดลง รวมทั้งการปรับตัวเพื่อให้มีโอกาสเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานโลก พร้อมกับการมุ่งสร้างสมดุลระหว่างการส่งออกสินค้าและนำเข้าปัจจัยการผลิตเพื่อให้เกิด Natural Hedge ก็อาจช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากบาทแข็งได้

    ​









































































Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest