Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 พฤษภาคม 2566

Econ Digest

เงินบาท...ผันผวน รอประเมินปัจจัยการเมืองไทย และทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ

คะแนนเฉลี่ย

        นับตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา เงินบาทแกว่งตัวในกรอบกว้างท่ามกลางความไม่แน่นอนของปัจจัยหลัก 3 เรื่อง ซึ่งมาจากทั้งปัจจัยในต่างประเทศและปัจจัยเฉพาะของไทย โดย 3 เรื่องหลักๆ ที่มีผลกระทบต่อสถานะการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติและค่าเงินบาท ประกอบด้วย 1) การพลิกกลับไป-กลับมาของมุมมองที่มีต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ 2) ทิศทางค่าเงินหยวนและมุมมองที่มีต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน และ 3) สถานการณ์ทางการเมืองของไทย โดยเฉพาะในเดือนพ.ค. 2566

        การเคลื่อนไหวของเงินบาทแม้ว่าจะยังคงสอดคล้องเกาะกลุ่มกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย แต่หากมองในมิติของความผันผวน คงต้องยอมรับว่า เงินบาทในปีนี้มีความผันผวนค่อนข้างมาก และเป็นสกุลเงินที่มีค่าความผันผวนสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย ตามหลังเพียงแค่เงินเยนของญี่ปุ่นเท่านั้น นอกจากนี้ แม้ว่าปัจจัยที่ทำให้สกุลเงินในฝั่งเอเชียและสกุลเงินหลักมีความผันผวนจะเป็นตัวแปรที่มาจากเรื่องของค่าเงินดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะแนวโน้มดอกเบี้ยของเฟด แต่คงต้องยอมรับว่า ความผันผวนของเงินบาทในปี 2566 ที่อยู่ในกรอบสูงอาจสามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ด้วยปัจจัยเฉพาะของไทย โดยเฉพาะการแกว่งตัวของเงินบาทตามทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก (ค่าความผันผวนของราคาทองคำอยู่ที่ 12.3%) และปัจจัยทางการเมืองในประเทศ ซึ่งยังมีประเด็นที่ต้องติดตามหลายด้านแม้ว่าการเลือกตั้งทั่วไปของไทยได้สิ้นสุดลงไปแล้ว

        สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทนั้น คาดว่า เงินบาทจะยังคงเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบกว้าง โดยอาจปรับตัวอยู่ในช่วงประมาณ 33.80-35.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระยะสั้น (คาดการณ์โดยธนาคารกสิกรไทย) เนื่องจากยังมีหลายตัวแปรที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องเพดานหนี้สหรัฐฯ ทิศทางดอกเบี้ยเฟด และสถานการณ์การเมืองไทย ขณะที่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ปัจจัยที่อาจมีน้ำหนักมากขึ้นน่าจะเป็นเรื่องทิศทางของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งหากสามารถประคองการฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ก็จะช่วยเพิ่มแรงหนุนต่อภาพรวมเศรษฐกิจและดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของค่าเงินบาท

 


Click
 ชมคลิป เงินบาท...ผันผวน รอประเมินปัจจัยการเมืองไทย และทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น