Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 พฤษภาคม 2566

Econ Digest

ฝุ่น PM2.5 กทม. และเขตเมือง โจทย์ที่รอการแก้ไข

คะแนนเฉลี่ย

        ปัจจุบันฝุ่น PM2.5 ได้กลายมาเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่บั่นทอนสุขภาพของคนไทย ซึ่งสาเหตุหลักในแต่ละพื้นที่นั้นแตกต่างกัน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดจึงไม่อาจใช้รูปแบบเดียวกันหมดได้ในทุกพื้นที่ โดยในเขตเมืองที่มีการจราจรหนาแน่นอย่างกรุงเทพฯ นั้น สาเหตุสำคัญกว่า 65% เกิดจากการปล่อยไอเสียรถยนต์ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ฝุ่น PM2.5 ที่ปล่อยออกจากรถยนต์นั่งและรถปิกอัพในแต่ละวันในกรุงเทพฯ อาจสูงถึงไม่ต่ำกว่า 6 พันล้านมิลลิกรัม

        ดังนั้น แนวทางหลักในการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ จึงน่าจะเป็นการบริหารจัดการการปล่อยไอเสียรถยนต์ โดยเฉพาะจากรถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 15 ปี ซึ่งมีจำนวน 1.45 ล้านคันในกรุงเทพฯ คิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ของรถยนต์นั่งและรถปิกอัพที่จดทะเบียนทั้งหมดในกรุงเทพฯ และส่วนใหญ่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่ปล่อยฝุ่น PM2.5 สูงกว่าแบบอื่น ซึ่งแนวทางการบริหารจัดการหรือแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 จากไอเสียในกรุงเทพฯ อาจพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้รถยนต์โดยตรง อาทิ การปรับใช้มาตรฐานยูโร 5 ในปี 2567 ตามแผน การสนับสนุนให้ต้นทุนการตรวจสภาพเครื่องยนต์ลดต่ำลง และการปรับระบบงานจราจร ขณะที่ การกระตุ้นการใช้รถยนต์ BEV เป็นมาตรการที่หวังผลในระยะยาว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าอาจต้องรอถึงปี 2573 กว่าที่ปริมาณรถยนต์นั่งและรถปิกอัพ BEV สะสมในกรุงเทพฯ จะมีสัดส่วนแตะ 10% จากที่น่าจะมีแค่ 0.6% ในปี 2566 นี้

        นอกจากนี้ ยังมีแนวทางอื่นๆ ซึ่งน่าจะเน้นไปที่ระบบงานจราจร ซึ่งในประเทศต่างๆ เช่น เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศในยุโรป ได้มีการนำมาใช้แล้ว ทั้งการใช้ฐานข้อมูลรถยนต์ที่สัญจรในแต่ละเส้นทางมาวิเคราะห์และวางแผนการจราจรเพื่อให้เกิดการระบายรถได้รวดเร็วขึ้น การจำกัดปริมาณรถในบางช่วงเวลาในบางเส้นทาง หรือแม้แต่การนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ เป็นต้น

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น