Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 มกราคม 2564

Econ Digest

เครื่องดื่ม...น้ำนมจากพืช โอกาสที่เปิดกว้าง...รับความต้องการที่หลากหลาย

คะแนนเฉลี่ย
​​​เครื่องดื่มน้ำนมถั่วเหลืองเป็นเครื่องดื่มน้ำนมจากพืชที่เราคุ้นเคย ทั้งในรูปแบบต้มสด และบรรจุขวด/กล่องพร้อมดื่ม ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในธุรกิจเครื่องดื่มน้ำนมจากพืช ตลาดเครื่องดื่มน้ำนม
ถั่วเหลืองมีการแข่งขันเข้มข้นขึ้นจากการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ และเน้นกลุ่มลูกค้าที่ต้องการสินค้าพรีเมียม จากถั่วเหลืองออร์แกนิก น้ำนมถั่วเหลือง 100% ไม่ผสมนมผงและน้ำมันพืช รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น น้ำนมถั่วเหลืองรสชาติใหม่ และเพิ่ม topping ในเครื่องดื่ม เป็นต้น
จากกระแสความนิยมน้ำนมจากพืชที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก จึงมีการพัฒนาเครื่องดื่มจากพืชทางเลือกชนิดอื่น เช่น น้ำนมอัลมอนด์ พิสตาชิโอ วอลนัท โอ๊ต ข้าวโพด ข้าวกล้อง เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคให้มีทางเลือกเครื่องดื่มน้ำนมจากพืชที่หลากหลายขึ้น ถึงแม้ปัจจุบันเครื่องดื่มน้ำนมพืชทางเลือกในไทย ยังมีส่วนแบ่งตลาดไม่มากนัก คิดเป็นเพียง 2-3% ของมูลค่าตลาดน้ำนมถั่วเหลือง แต่คาดว่าจะมีโอกาสขยายตลาดได้ต่อเนื่อง สอดคล้องกับแนวโน้มผู้บริโภคในอนาคต 1) กลุ่มที่หลีกเลี่ยงการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ต้องการเครื่องดื่มน้ำนมจากพืชทดแทนน้ำนมจากสัตว์ 2) กลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะด้านโภชนาการ เช่น มีอาการแพ้แลคโตส ควบคุมน้ำหนัก และ 3) กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อปานกลางถึงสูง ต้องการสินค้าใหม่ที่ตอบความต้องการเฉพาะได้ เนื่องจากราคาเฉลี่ยในปัจจุบันยังสูงกว่าราคาน้ำนมจากถั่วเหลือง  
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าตลาดเครื่องดื่มน้ำนมจากพืชทางเลือกชนิดอื่น ไม่รวมถั่วเหลือง ในปี 2563 น่าจะอยู่ที่ 500-600 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการคงจะยังมุ่งเน้นการสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ การให้ความสำคัญกับรายละเอียดของกระบวนการผลิตและวัตถุดิบ มากกว่าการแข่งขันด้านราคา และเน้นเจาะตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งมีความเต็มใจที่จะจ่ายให้กับสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะได้ 


การขยายตัวต่อเนื่องของตลาดเครื่องดื่มน้ำนมจากพืชทางเลือก คาดว่าจะดึงดูดผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาด ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยผู้เล่นที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาวจะต้องสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย สรรหาวัตถุดิบสำหรับการผลิตน้ำนมจากพืชที่ให้คุณค่าทางโภชนาการที่แตกต่างกัน และนำเสนอรสชาติ/ส่วนผสมเครื่องดื่มที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม พร้อมทั้งมีตัวเลือกสินค้าสำหรับลูกค้าในทุก segment ตั้งแต่สินค้าราคาประหยัดไปจนถึงสินค้าพรีเมียม อย่างไรก็ดี ธุรกิจเครื่องดื่มน้ำนมจากพืชในประเทศยังมีความท้าทายด้านการจัดการวัตถุดิบในการผลิตที่ส่วนใหญ่ต้องนำเข้า ซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ อีกทั้งการแข่งขันกับผลิตภัณฑ์น้ำนมพืชนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในหลายช่วงราคา และมีสินค้าที่ราคาใกล้เคียงกับสินค้าที่ผลิตในไทย ซึ่งถือเป็นโจทย์ท้าทายของผู้ประกอบการไทยในการสร้างแบรนด์เครื่องดื่มน้ำนมจากพืช ในราคาที่แข่งขันได้ และสามารถขยายตลาดจากการเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มไปสู่ตลาดหลักอย่างเครื่องดื่มน้ำนมจากถั่วเหลือง



1 ประเมินสัดส่วนจากรายได้หลักของผู้ผลิต/จำหน่ายเครื่องดื่มน้ำนมจากพืชทางเลือกชนิดอื่นในประเทศ ไม่รวมถั่วเหลือง


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest