Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 กุมภาพันธ์ 2563

Econ Digest

สิ่งที่ทำให้ไทยคว้าอันดับ ประเทศที่น่าเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุด คือ...

คะแนนเฉลี่ย

​​​               เมื่อเร็ว ๆ นี้ U.S. New & World Report ได้จัดทำผลสำรวจจากผู้บริหารกว่า 6,000 คนทั่วโลก เพื่อจัดอันดับประเทศที่เหมาะในการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดในโลกประจำปี 2020 (Best Countries to Start a Business) โดยคัดเลือกประเทศที่เหมาะสมจาก 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่ กฎระเบียบในการจัดตั้งธุรกิจใหม่ ต้นทุนการผลิตต่ำ ค่าครองชีพไม่แพง มีการเชื่อมต่อระบบเศรษฐกิจกับทั่วโลก และมีการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ดี ซึ่งประเทศไทยได้รับเลือกเป็นอันดับ 1 ของประเทศที่เหมาะสมในการเริ่มต้นธุรกิจ 




                จะเห็นได้ว่า การจัดลำดับในครั้งนี้มีความสอดคล้องกับการจัดลำดับ Ease of Doing Business ที่ธนาคารโลกได้จัดทำทุกปี และชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์ของความพยายามของรัฐบาลในการปรับปรุงกฎระเบียบข้อบังคับ เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาเริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทยได้สะดวกยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเรามาดูถึงรายละเอียดการจัดลำดับครั้งนี้ ก็พบว่าการจัดลำดับให้น้ำหนักประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ และค่าครองชีพไม่แพงมากที่สุด ซึ่งปัจจัยที่เป็นจุดแข็งของไทยเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ไม่ยั่งยืน เห็นได้จากจ้างแรงงานและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ส่วนปัจจัยสำคัญอื่น ๆ เช่น การเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจกับทั่วโลก และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ประเทศไทยกลับทำคะแนนได้แย่ที่สุดเมื่อเทียบกับทั้ง 5 ประเทศที่ได้รับการจัดลำดับให้เหมาะกับการเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้กลับเป็นปัจจัยที่สำคัญกว่าในระยะยาว เพราะการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจกับทั่วโลกย่อมก็ให้เกิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งไทยต้องการเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนระดับโลก นอกจากนี้ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ดี ย่อมลดต้นทุนทางการเงิน เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมจากทั่วโลกสามารถเข้ามาทำธุรกิจในไทยได้สะดวกขึ้น   

                นอกจากนี้ ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่มุ่งเน้นนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น นอกเหนือจากตัวชี้วัดข้างต้นจำเป็นต้องมีตัวชี้วัดด้านนวัตกรรมมาประกอบ เพื่อชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของไทยในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติในอุตสาหกรรมแห่งอนาค​ตด้วย ซึ่งทาง World Economic Forum ได้มีการจัดทำดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitive Index) และมีการจัดทำดัชนีความสามารถในการคิดค้นนวัตกรรม และดัชนีทักษะด้านดิจิทัลของประชากรในประเทศ เป็นดัชนีย่อยประกอบในการหาภาพรวมความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศ และเมื่อมองในประเด็นเหล่านี้แล้ว จะเห็นได้ว่า ประเทศมาเลเซีย จีน สิงคโปร์ และอินเดีย ที่ได้ลำดับต่ำกว่าไทยในการจัดลำดับ Best Countries to Start a Business กลับได้ลำดับสูงกว่าไทยทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาศักยภาพในการคิดค้นนวัตกรรม และพัฒนาทักษะของแรงงานในประเทศให้มากกว่านี้

                ดังนั้น การได้เป็นที่ 1 ในการจัดลำดับ Best Countries to Start a Business ครั้งนี้ แม้ว่าจะเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทย แต่ยังมีประเด็นท้าทายที่ไทยต้องปรับปรุงอีกมาก ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ตัดสินความสามารถในการแข่งขัน และชี้ให้เห็นถึงความน่าลงทุนของประเทศในสายตาชาวต่างชาติในระยะยาว​



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest