Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 มีนาคม 2564

Econ Digest

กำลังมาแรง ส่งออกผ่านแดนไป... เวียดนาม สิงคโปร์ จีน จากสินค้าไอที และผลไม้ไทย

คะแนนเฉลี่ย

การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในปี 2563 หดตัว 2.16% มูลค่า 766,314 ล้านบาท ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พรมแดนระหว่างประเทศจำกัดจุดผ่านแดน และเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการตรวจปล่อยรถขนส่ง แต่ท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้น กลับมีความต้องการสินค้า เพื่อตอบโจทย์กิจกรรมทางเศรษฐกิจวิถีใหม่ ทำให้การส่งออกผ่านแดนไปประเทศที่ 3 เติบโตได้อย่างน่าสนใจ 6.4% กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ที่ช่วยพยุงการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทย ให้กลับมาเติบโตได้

ในปี 2564 แม้สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทย เริ่มปรับตัวดีขึ้นกว่าเดิม ทั้งปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่เข้ามาช่วยเสริม ให้ตัวเลขการค้าชายแดนพลิกฟื้นกลับมา  ถึงแม้ ตลาดประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยเกินกว่าครึ่ง ได้แก่ เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ฉุดการส่งออกชายแดนในภาพรวมลดลงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา คาดว่าในปี 2564 การส่งออกชายแดนไปตลาดเหล่านี้ จะยังมีทิศทางเติบโตเชื่องช้าต่อไป โดยขยายตัวเพียง 1.3% มูลค่าการส่งออก 454,005 ล้านบาท ด้วยข้อจำกัดด้านกำลังซื้อและจำนวนประชากรของคู่ค้า และจากการที่มีนักลงทุนเข้าไปตั้งโรงงานผลิตสินค้า

สำหรับตลาดดาวรุ่ง อยู่ที่การส่งสินค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 เช่น สิงคโปร์ จีน เวียดนาม และประเทศอื่นๆ เริ่มมีสัญญาณเติบโตมาระยะหนึ่ง โดยการส่งออกไปตลาดกลุ่มนี้ คิดเป็น 43% ของการส่งออกชายแดนและผ่านแดน (จากที่เคยมีสัดส่วน 37% ในปี 2561) โดยสินค้าไทยที่มีศักยภาพโดดเด่น ได้แก่ สินค้าเทคโนโลยี IT ขั้นกลาง ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้เมืองร้อนอย่าง ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ และมังคุด คาดว่าปี 2564 ตลาดกลุ่มนี้ จะเติบโตที่ 8.5% มูลค่าราว 345,191 ล้านบาท โดยตลาดจีนตอนใต้มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีอนาคตสดใสกว่าตลาดอื่น 

ในภาพรวม การส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยปี 2564 คาดว่าจะพลิกกลับมาเติบโตที่ 4.3% มีมูลค่าการส่งออก 799,195 ล้านบาท (กรอบประมาณที่ 3.3-5.5%) ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า ว่าสามารถรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ได้ดีเพียงใด​

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest