Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 ธันวาคม 2566

Econ Digest

ธุรกิจรุ่ง-ร่วง ปี 2567

คะแนนเฉลี่ย
  • เศรษฐกิจไทย ยังเหนื่อย แต่ 3 เทรนด์แรง ยังไปต่อ คือ Grow Green, Grow Wellness, Grow Digital
  • 3 ธุรกิจรุ่ง ได้แก่ ท่องเที่ยวสุขภาพ-การแพทย์ทางไกล, ธุรกิจปล่อยคาร์บอนต่ำ, ตู้กดสินค้าอัตโนมัติ
  • 3 ธุรกิจร่วง ได้แก่ แฟชั่น-ของใช้ส่วนตัวทั่วไป, สินค้าปล่อยคาร์บอนสูง, สถาบันการศึกษา
  • เจ้าของกิจการที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจร่วง อาจอยู่รอดและยังมีความสามารถในการทำกำไร หากเป็นผู้ที่ไม่หยุดพัฒนาและสร้างความแตกต่างทางธุรกิจได้
  • สภาพแวดล้อมการทำธุรกิจปี 2567 ยังท้าทาย โดยเจ้าของกิจการที่ทำการค้าระหว่างประเทศจะยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจหลักในโลกที่ไม่สดใส โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่อาจจำเป็นต้องเริ่มปรับวงจรดอกเบี้ยเป็นทิศขาลงเพื่อดูแลเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปีที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี และจีนที่ต้องประคับประคองปัญหาอสังหาริมทรัพย์ที่เรื้อรัง ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์โลกทั้งอิสราเอล-ฮามาสและรัสเซีย-ยูเครน สำหรับเจ้าของกิจการที่พึ่งพากำลังซื้อของคนในประเทศ อาจได้แรงหนุนบางส่วนจากมาตรการภาครัฐที่ดำเนินการผ่านงบประมาณประจำปีโดยเฉพาะงบลงทุนที่เลื่อนมาจากปีก่อน และการขับเคลื่อนหลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ด้วยความสามารถในการใช้จ่ายของครัวเรือนและธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้นตัวดี ค่าครองชีพและหนี้สะสมที่สูง ทำให้สุทธิแล้ว การใช้จ่ายในประเทศอาจฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ยอดขายของกลุ่มนี้ก็อาจเติบโตไม่ได้มากเช่นกัน
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 อาจขยายตัวในกรอบ 3.1-3.6% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว การใช้จ่ายของภาครัฐ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ส่วนการส่งออกอาจพลิกเป็นบวกได้ ขณะที่ ต้นทุนธุรกิจยังมีแนวโน้มทรงตัวสูง ทั้งจากราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ค่าจ้างที่ขยับตามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ทรงตัวสูงต่อเนื่อง ตลอดจนการเตรียมการรับมือกับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

  • 3 เทรนด์แรงที่ธุรกิจไม่ควรพลาด เพื่อสร้างโอกาสเพิ่มรายได้ในระยะข้างหน้า ได้แก่
    • Grow Green รับโลกเดือด จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว ทำให้ผู้บริโภค องค์กรธุรกิจ และทางการทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยต้องเร่งปรับตัวขนานใหญ่ เพราะมนุษย์ในยุคนี้น่าจะเป็นกลุ่มสุดท้ายแล้วที่จะสามารถหยุดยั้งผลกระทบเรื่องนี้ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป ขณะที่ ไทยติดอันดับต้นๆ ของโลกที่มีความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ1  และในปี 2567 ทางการจะออกกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและจัดเก็บภาษีคาร์บอนกับธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ควบคู่กับการให้แรงจูงใจต่อธุรกิจที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำลง
    • Grow Wellness รับสังคมสูงวัย ด้วยผู้สูงอายุในต่างประเทศและในไทยมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นรวดเร็ว ประกอบกับแทบทุกวัยหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพในเชิงป้องกันมากขึ้นหลังการระบาดโควิด ซึ่งปัจจุบัน Wellness Economy ของไทยถูกประเมินว่า น่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท2  และยังมีแนวโน้มเติบโต ขณะที่ ผู้บริโภคยุคใหม่หันมาให้ความสำคัญกับการมีความสุขกับปัจจุบันและแสวงหาไลฟ์สไตล์ที่ผ่อนคลายจากความตึงเครียดรอบด้าน โดยผู้ที่มีอาการของโรคซึมเศร้า นอนไม่หลับ ออฟฟิศซินโดรม ไมเกรน กรดไหลย้อน เป็นต้น มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
    • Grow Digital รับโลกไร้พรมแดน แม้ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตและทำกิจกรรมนอกบ้านหลังโควิดคลี่คลาย แต่การใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลจะยังเติบโต จากการที่ผู้บริโภคทุกช่วงวัย ไม่เฉพาะคนรุ่นใหม่ มีความคุ้นเคยและสะดวกที่จะใช้งาน สะท้อนผ่านสัดส่วนปริมาณธุรกรรมการชำระเงินออนไลน์ของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 94% ของปริมาณธุรกรรมการชำระเงินผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งหมด3  ขณะเดียวกัน ฟากผู้ให้บริการก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะเทรนด์การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่กำลังมาแรง


  • ท่องเที่ยวสุขภาพ-การแพทย์ทางไกล ธุรกิจปล่อยคาร์บอนต่ำ ตู้กดสินค้าอัตโนมัติ เป็น 3 ธุรกิจรุ่ง
    • การท่องเที่ยวสุขภาพ คาดรายได้จากคนไข้ Medical tourism เติบโต 8-10% ในปี 2567 สอดคล้องไปกับการฟื้นตัวต่อเนื่องของตลาดต่างชาติเที่ยวไทยและการเดินทางระหว่างประเทศ นอกจากนี้ การแพทย์ทางไกล (Telehealth) ก็คาดว่าจะเติบโตสูงราว 17% ต่อปี4  สอดคล้องไปการพัฒนาระบบเทคโนโลยีในการให้บริการด้านสาธารณสุข และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มรูปแบบในปี 2572
    • ธุรกิจปล่อยคาร์บอนต่ำ ครอบคลุมหลายหมวดหมู่ ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอย่างโซลาร์รูฟท็อป ตลาดคาร์บอนเครดิต ตลาดซื้อขายใบรับรองไฟฟ้าสีเขียว การตรวจวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น โดยประเมินว่า ในปี 2567 ส่วนแบ่งตลาดของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าต่อรถยนต์รวมอาจเพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 10% ขณะที่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอาจขยับขึ้นเป็น 15-20% เทียบกับ 13% ในปี 2565
    • ตู้กดสินค้าอัตโนมัติ คาดรายได้ผู้ประกอบการตู้กดสินค้าอัตโนมัติอาจขยายตัวราว 8-10% ในปี 2567 โดยการติดตั้งจะยังเน้นไปในทำเลที่มีผู้คนสัญจรหนาแน่น ครอบคลุมสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น เช่น เครื่องดื่ม อาหาร สินค้าในชีวิตประจำวัน เป็นต้น สอดคล้องไปกับไลฟ์สไตล์ที่ต้องการความสะดวกสบายของผู้บริโภคยุคใหม่ในเขตเมือง


  • แฟชั่น-ของใช้ส่วนตัวทั่วไป สินค้าปล่อยคาร์บอนสูง สถาบันการศึกษา เป็น 3 ธุรกิจร่วง
    • แฟชั่นและของใช้ส่วนตัวทั่วไป ในยามที่ผู้บริโภคยังระวังการใช้จ่ายและภักดีต่อแบรนด์ต่ำ ประกอบกับต้องแข่งขันสูงมากกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันมีราคาย่อมเยา ทำให้สินค้าแฟชั่นและของใช้ส่วนตัว เช่น สกินแคร์ เครื่องสำอาง วิตามิน เป็นต้น ของแบรนด์ที่มีฐานลูกค้าน้อย เสี่ยงจะเผชิญยอดขายที่หดตัว หรือเป็นกระแสได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น สะท้อนจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าแฟชั่นและของใช้ส่วนตัวที่คาดว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดราว 20% ในปี 2567 เพิ่มขึ้นจาก 16% ในปี 2560
    • สินค้าปล่อยคาร์บอนสูงที่กำลังจะถูกเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนข้ามพรมแดนจากคู่ค้าตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป โดยเฉพาะจากสหภาพยุโรป (EU Carbon Border Adjustment Mechanism) หลักๆ ได้แก่ เหล็ก อะลูมิเนียม โดยแม้ว่าในปี 2567 จะยังไม่ถูกเก็บ แต่ผู้ประกอบการจะต้องเริ่มรายงานข้อมูล ทำให้จะมีต้นทุนการดำเนินการและอาจจำเป็นต้องลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งปริมาณเหล็กส่งออกไปสหภาพยุโรปที่เข้าข่ายอยู่ที่ราว 1.25 แสนตัน หรือคิดเป็น 6% ของเหล็กส่งออกของไทยไปตลาดโลก
    • สถาบันการศึกษา ด้วยโครงสร้างประชากรที่มีจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลง อีกทั้งปัจจุบันการไปศึกษาต่อยังต่างประเทศทำได้ง่ายขึ้นมากเมื่อเทียบกับในอดีต การศึกษาหลักสูตรชั้นนำผ่านช่องทางออนไลน์ก็มีความสะดวก หรือแม้กระทั่งการค้นคว้าหาความรู้ผ่านออนไลน์และ Generative AI ก็พัฒนาขึ้นมาก ทำให้สถาบันการศึกษามีแนวโน้มเผชิญความท้าทายจากภาวะอุปทานส่วนเกิน และจำเป็นต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้ตอบรับกับความต้องการแรงงานในอนาคต โดยสถาบันการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวน้อย หรือไม่มีจุดแข็ง อาจมีความเสี่ยงต่อการปิดตัว ทั้งนี้ จำนวนนักเรียนที่เข้าศึกษาต่อในขั้นอุดมศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษา5  ในปีการศึกษา 2564 มีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ 2,816 คนต่อ 1 แห่ง ลดลงจากปีการศึกษา 2559 ซึ่งมีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ 3,517 คนต่อ 1 แห่ง หรือคิดเป็นจำนวนนักเรียนที่ลดลงเฉลี่ยกว่า 4% ต่อปี


        อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของแต่ละธุรกิจในธุรกิจรุ่ง-ร่วง อาจแตกต่างกัน โดยในกลุ่มธุรกิจร่วง ยังมีกิจการที่ Outperform เช่นเดียวกับในกลุ่มธุรกิจรุ่ง ก็อาจมีกิจการที่ Underperform ขณะที่ ตลาดในยุคปัจจุบันมีความซับซ้อนและแตกย่อยมากขึ้น (Fragmented) ทำให้ไม่ว่าเจ้าของกิจการจะอยู่ในธุรกิจใด จำเป็นจะต้องไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนา พร้อมปรับตัวให้รับกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอยู่เสมอ รวมไปถึงการพยายามเข้าไปครองใจผู้บริโภคผ่านการทำการตลาดที่จริงใจและเกาะไปกับกระแสความสนใจให้ได้อย่างรวดเร็ว ท่ามกลางยุคสมัยที่ผู้ชนะในเกมการแข่งขัน มักจะเป็นผู้ที่ไวกว่า แต่ก็มิใช่ว่าเกมการแข่งขันจะมีเพียงยกเดียว ดังนั้น โอกาสจึงมีให้เริ่มต้นใหม่ได้ตลอด แม้กระทั่งในยามวิกฤต ขอเพียงต้องพร้อมที่จะไขว่คว้ามา ดังนั้น แม้จะอยู่ในกลุ่มธุรกิจร่วง เจ้าของกิจการที่มีความยืดหยุ่นและได้ใจลูกค้า ก็สามารถจะประสบความสำเร็จได้


1  ที่มา: Swiss Re Institute, German Watch
2  ที่มา: Global Wellness Institute
3  คำนวณจากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยช่วง 9 เดือนแรกปี 2566
ที่มา: Grand View Research
5  ที่มา: รวมการเข้าเรียนในระดับ ปวส.1 และปริญญาตรีปีที่ 1, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest