Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 เมษายน 2565

Econ Digest

BEV จีน...เร่งรุกตลาดไทย สร้างความได้เปรียบ ชิงส่วนแบ่งเหนือคู่แข่ง

คะแนนเฉลี่ย

​มาตรการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมการสร้างตลาดรถยนต์ BEV ของภาครัฐที่เพิ่งออกมา ช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์ BEV ได้อย่างมาก ทำให้การแข่งขันเริ่มคึกคักขึ้นทันที นำโดยค่ายรถจีนที่อาศัยจังหวะที่ค่ายรถกระแสหลักยังไม่พร้อมทำตลาดเร่งดึงส่วนแบ่งลูกค้ามาก่อน ด้วยจุดแข็งสำคัญคือ การเลือกผลิตภัณฑ์บุกตลาดและการตั้งราคาที่ดึงดูดใจผู้ซื้อในวงกว้างขึ้น ซึ่งหลังจากนี้น่าจะเห็นการบุกตลาดและเข้ามาลงทุนของค่ายรถสัญชาติจีนรายใหม่ ๆ มากขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าปี 2565 มีโอกาสที่ค่ายรถจีนอาจจะชิงส่วนแบ่งตลาดรวมได้ถึง 80% เพิ่มขึ้นจาก 58% ในปี 2564 จากยอดขายรถยนต์ BEV ที่คาดว่าจะทำได้เกินกว่า 10,000 คัน ขยายตัวมากกว่า 412.0%(YoY) ขณะที่ค่ายตะวันตกมีส่วนแบ่งตามมาเป็นอันดับสองจากปัจจัยบวกด้านฐานผู้ซื้อที่มีกำลังซื้อสูงและการขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในประเทศ ส่วนค่ายญี่ปุ่น เนื่องจากเข้ามาทำตลาดช้ากว่าจึงมีช่วงเวลาสั้นกว่าในการชิงส่วนแบ่งตลาด      


อย่างไรก็ตาม ภาพรวมตลาดรถยนต์ยังคงมีประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่น่ากังวล เนื่องจากส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนรถยนต์อย่างชิปอิเล็กทรอนิกส์ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และทำให้ปริมาณการผลิตรถยนต์โลกรวมถึงในไทยมีทิศทางชะลอตัวลง โดยเฉพาะรถยนต์นั่งซึ่งมีการใช้ชิ้นส่วนชิปอิเล็กทรอนิกส์มากกว่ารถปิกอัพ นอกจากนี้ ปัญหาราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วก็ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอลง จึงมีโอกาสที่รถยนต์ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงจะได้รับผลกระทบก่อน


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดในเบื้องต้นว่า ยอดขายรถยนต์รวมในไทยปี 2565 อาจปิดที่ราว 825,000 คัน (+8.7% (YoY)) จากฐานที่ต่ำมากในปี 2564 ที่ขายได้เพียง 759,119 คัน (ต่ำสุดในรอบ 13 ปี) แต่หากสถานการณ์สงครามเลวร้ายลงอาจทำให้ยอดขายลดลงมาเหลือ 800,000 คัน (+5.4% (YoY)) และในทางกลับกันหากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนคลี่คลายได้เร็ว ก็มีโอกาสที่ยอดขายจะสูงกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ โดยปีนี้รถปิกอัพมีโอกาสที่จะทำยอดขายได้สูงกว่ารถยนต์นั่ง โดยนอกจากจะเผชิญปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนที่น้อยกว่าแล้วยังได้รับอานิสงส์จากมาตรการดูแลราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐฯ

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest