ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกกุ้งของไทยปี 2566 อาจจะอยู่ที่ 1.06-1.10 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือในกรอบ -3.5% ถึง 0.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจของคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่มีสัดส่วนมูลค่าส่งออกราวร้อยละ 55 ของการส่งออกกุ้งทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก มีแนวโน้มชะลอตัว ในขณะที่ตลาดจีน คาดว่าจะมีแรงซื้อเพิ่มขึ้นจากความต้องการในประเทศที่คงจะเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มกุ้งสดแช่แย็นแช่แข็ง รวมถึงตลาดใหม่ๆ ที่น่าจะเติบโตได้ เช่น ไต้หวัน และฮ่องกง ทำให้ผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยมีแนวโน้มจะส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ด้วยสัดส่วนมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่ยังน้อย จึงช่วยชดเชยการหดตัวของตลาดหลักได้ไม่มากนัก
สำหรับในระยะข้างหน้า การส่งออกกุ้งไทยยังคงมีปัจจัยท้าทายสำคัญอยู่ที่ความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งในตลาดหลัก มีการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง และคู่แข่งยังมีแต้มต่อจากมาตรการทางการค้าของคู่ค้า ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ GSP และ FTA ขณะที่ไทยค่อนข้างเสียเปรียบมาตั้งแต่เผชิญโรคระบาดในอดีต และเสียสิทธิ GSP รวมถึงไม่มี FTA ในบางตลาด นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องของการปรับประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง และผู้ส่งออกกุ้งอาจมองหาโอกาสในตลาดศักยภาพใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง รวมทั้งควรเตรียมการรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และจากมาตรการคู่ค้าและผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจประเด็นความยั่งยืน ซึ่งจากประเด็นความท้ายทายดังกล่าวอาจกดดันราคากุ้งในประเทศ และกระทบรายได้สุทธิของผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง จึงเป็นโจทย์ที่ทุกฝ่ายรวมถึง Shrimp Board คงยังจำเป็นต้องเข้ามาช่วยดูแลเพื่อจูงใจการผลิต ควบคู่กับการผลักดันกลไกสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมต่อไป
|
Click ชมคลิป
แนวโน้ม...ส่งออกกุ้งไทย ปี 66 |
Scan QR Code
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น