Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 มีนาคม 2563

Econ Digest

COVID-19 ฉุดการท่องเที่ยวโลกหยุดชะงัก คาด…ทั้งปีหดตัว 38-45%

คะแนนเฉลี่ย

​         เมื่อองค์การการอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้ไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เข้าสู่ภาวะการแพร่ระบาดไปทั่วโลก (Pandamic) และตามมาด้วยการประกาศว่าภูมิภาคยุโรปได้กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) แทนประเทศจีน เนื่องจากสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศจีนจะเริ่มผ่อนคลายลง แต่กลับพบว่าในหลายประเทศมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มสูงขึ้นพร้อมกันอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรปที่มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เช่น อิตาลี สเปน เยอรมนี และฝรั่งเศส เป็นต้น รวมถึงหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย อเมริกาและตะวันออกกลาง
        โดยเมื่อ วันที่ 20 มี.ค. 2563 จากข้อมูลของเว็บไซต์ worldometer พบว่า มีประเทศที่พบติดเชื้อไวรัสโคโรนากว่า 179 ประเทศทั่วโลกและเขตการปกครองพิเศษ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกสะสมมีประมาณ 2.45  แสนราย (โดยในประเทศจีนมีผู้ป่วยสะสม 8.10 หมื่นราย และนอกจีน 1.65 แสนราย)  โดยผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวประมาณ 1.47 แสนราย และผู้ที่เสียชีวิต 10,048 ราย
        สถานการณ์การแพร่ระบาดที่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้รัฐบาลหลายประเทศต่างเพิ่มมาตรการที่เข้มข้นขึ้นในการควบคุมการเดินทางไปต่างประเทศสำหรับประชาชนในประเทศและการเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติจากพื้นที่เสี่ยง รวมถึงมาตรการปิดเฉพาะเมือง ตลอดจนการปิดประเทศโดยระงับการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นการชั่วคราว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศ
        ทั้งนี้ การยกระดับมาตรการที่เข้มข้นของแต่ละประเทศ รวมถึงการเลื่อนมหกรรมกีฬาสำคัญอย่างฟุตบอลยูโร และกีฬาโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นยังต้องรอดูสถานการณ์ คงจะมีผลต่อกิจกรรมเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงภาคการท่องเที่ยวของโลกคงจะหยุดชะงักลง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 นี้ จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศทั่วโลกอาจหดตัวสูง 75%-80% (YoY) หรือมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางทั่วโลกเฉลี่ยประมาณเดือนละ 20-30 ล้านคน หรือเฉลี่ยประมาณ 0.7-1 ล้านคนต่อวัน จากเดิมที่มีการเดินทางต่างประเทศเฉลี่ยวันละประมาณ 4 ล้านคน เนื่องจากประเทศที่พบการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาล้วนเป็นตลาดสำคัญของการท่องเที่ยวของโลก ซึ่งจากข้อมูลของ องค์การการท่องเที่ยวของโลก (UNWTO) พบว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศทั่วโลกมีจำนวน 1,461 ล้านคน โดยการท่องเที่ยวของโลกส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคยุโรป ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและภูมิภาคอเมริกาคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 91% ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศทั่วโลกทั้งหมด
        อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากในช่วง 1-2 เดือน (เดือนมี.ค.-เม.ย.63) รัฐบาลในหลายประเทศสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาไม่ให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น น่าจะทำให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น แต่ก็คงจะต้องใช้ระยะเวลาอีกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน กว่าที่กิจกรรมการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยาวนานขึ้นน่าจะส่งผลทำให้ในปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศทั่วโลกอาจต่ำสุดในรอบ 15 ปี โดยคาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 800-900 ล้านคน หดตัวกว่า 38%-45% จากปีที่ผ่านมา หรือลดลงประมาณ 550 – 650 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นรายได้การท่องเที่ยวทั่วโลกที่น่าจะหายไปไม่ต่ำกว่า 570,000-677,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ในปี 2562 รายได้การท่องเที่ยวโลกน่าจะมีมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านเหรียญ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของมูลค่าการส่งออกภาคบริการของโลก) อย่างไรก็ดี หากในช่วง 1-2 เดือน สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังไม่สามารถควบคุมการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลในหลายๆ ประเทศมีมาตรการควบคุมที่เข้มข้นแล้ว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลกก็น่าจะได้รับผลกระทบหนักขึ้นกว่าที่คาดการณ์
        สำหรับสถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับการท่องเที่ยวทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สะท้อนให้เห็นได้จากข้อมูลของกองบังคับตรวจคนเข้าเมือง 2 พบว่า จำนวนชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 18 มี.ค. 2563 หดตัวกว่า 30.0% (YoY) อย่างไรก็ดี ในช่วงวันที่ 15 -18 มี.ค. 63 สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นในหลายๆ ประเทศ รวมถึงมาตรการเข้มข้นในประเทศไทยส่งผลทำให้จำนวนชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยหดตัว 82.4% (YoY) และมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่อง




Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest