การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) กลายเป็นเป้าหมายที่ไม่เพียงแค่ฝ่ายกำหนดนโยบายจะเป็นผู้ขับเคลื่อนให้ประเทศบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้เท่านั้น แต่ภาคเอกชนก็เป็นผู้เล่นสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อน และลดผลกระทบต่อปัญหาโลกร้อนได้ ภายใต้การกำหนดเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในรูปแบบธุรกิจ Net Zero ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัททั่วโลกตั้งเป้าหมาย Net Zero จำนวน 1,361 บริษัท และมีบริษัทไทยจำนวน 44 บริษัท1 โดยการดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสามารถดำเนินการได้หลายวิธี เช่น เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ใช้พลังงานสะอาด การปลูกป่าหรือพัฒนาเทคโนโลยีดูดซับ/กักเก็บก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ความสำคัญของโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
ปัจจุบันกลไกการได้มาซึ่ง คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ของประเทศไทยจะมีการดำเนินผ่านการจัดทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) หรือโครงการ T-VER ที่พัฒนาโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการดำเนินโครงการสามารถนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง (Carbon Offsetting) หรือขายคาร์บอนเครดิตให้แก่ผู้ที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่ไม่สามารถดำเนินการได้เอง
ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ได้ เช่น ต้นทุนการดำเนินการ ความพร้อมด้านเทคโนโลยี ระยะเวลาลงทุนเพื่อ
เปลี่ยนผ่านเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำ เป็นต้น
สถิติการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของไทย
การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในโครงการ T-VER มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจาก 0.85 ล้านบาท เมื่อเริ่มต้นโครงการในปี 2559 เป็น 146.7 ล้านบาท ณ เดือนกรกฎาคม 2565 โดยมีปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตรวม 1.92 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) คิดเป็นราคาคาร์บอนเครดิตเฉลี่ย 76.35 บาทต่อตัน ซึ่งมูลค่าและปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 จำนวน 124.8 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 13 เท่า จากปี 2564) และปริมาณการซื้อขาย 1.16 ล้านตัน ด้วยราคาเฉลี่ย 107.23 บาทต่อตัน
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในโครงการ T-VER เปรียบเทียบกับ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศล่าสุดในปี 2564 จำนวน 257.77 ล้าน tCO2e2 ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยคิดเป็น 0.1% ในปี 2564 และคิดเป็น 14.2% เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองทั้งหมดจำนวน 13.5 ล้าน tCO2e
สถานการณ์ตลาดคาร์บอนเครดิตไทย เป็นโอกาสแก่ภาคธุรกิจ
จากมูลค่าและปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตยังคงอยู่ในระดับต่ำเทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น และปริมาณการให้การรับรองคาร์บอนเครดิตในโครงการ T-VER รวมทั้งการตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจที่ประกาศเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น สะท้อนถึงแนวโน้มการตื่นตัวของภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสะท้อนโอกาสการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดเพื่อมาชดเชย ซึ่งปัจจุบันถือว่าธุรกิจไทยค่อนข้างมีความได้เปรียบด้านการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยเหตุผลดังนี้
-
ราคาคาร์บอนเครดิตอยู่ในระดับต่ำ
ตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตด้วยราคาที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับราคาในตลาดโลก ส่วนหนึ่งเนื่องจากไทยยังไม่มีนโยบายที่มีการบังคับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหมือนในต่างประเทศ เช่น อียู สหราชอาณาจักร รัฐแคลิฟอร์เนีย เกาหลีใต้ เป็นต้น สะท้อนโอกาสของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนสูงในการจัดหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือธุรกิจไทยที่ต้องการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง สามารถชดเชยคาร์บอนเครดิตด้วยต้นทุนที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดประเทศอื่น ๆ เพื่อประโยชน์ด้านการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการระดมทุน และเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในตลาดต่างประเทศที่ให้ความสำคัญด้านการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้
-
มาตรฐานคาร์บอนเครดิตของประเทศไทยเชื่อมโยงกับมาตรฐานสากล
ที่ผ่านมาคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองจากโครงการ T-VER เป็นมาตรฐานที่สามารถใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เฉพาะในประเทศไทย แต่ปัจจุบัน อบก. ได้เชื่อมโยงมาตรฐานคาร์บอนเครดิตในโครงการ T-VER กับมาตรฐาน Verified Carbon Standard (VCS) ของ Verra ซึ่งเป็นกลไกลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจระดับสากลที่มีส่วนแบ่งตลาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะช่วยให้คาร์บอนเครดิตที่ได้รับจากการดำเนินโครงการ T-VER ของประเทศไทยมีความสอดคล้องและเทียบเท่ากับมาตรฐานสากล อีกทั้งยังสามารถเข้าสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตกับต่างประเทศภายใต้มาตรฐาน VCS ได้ ดังนั้นแนวโน้มราคาคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER จะสูงขึ้นตามความต้องการในตลาดโลก ส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน เทคโนโลยีดูดซับ/กักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ และการดำเนินโครงการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในโครงการ T-VER จะได้รับผลตอบแทนตามราคาคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียวให้ประเทศอีกทางหนึ่งด้วย
- บรรยากาศตลาดคาร์บอนเครดิตที่ดีจากความร่วมมือของภาคเอกชนของไทย
ที่ผ่านมาภาคธุรกิจของไทยได้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสาร และผลักดันในการเกิดการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพื่อเป็นช่องทางในการเจรจาเพื่อตกลงซื้อขายคาร์บอนเครดิต เช่น การจัดตั้งเครือข่ายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งประเทศไทย (Thailand Climate Change Network: TCCN) การจัดตั้งสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100 Thailand Club) ที่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างบรรยากาศให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานหมุนเวียนแบบ 100% โดยมีเหตุผลมาจากการที่กลไกตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยมีรูปแบบในลักษณะเป็นภาคสมัครใจ ดังนั้น ความร่วมมือของภาคธุรกิจไทยเหล่านี้จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่ช่วยพัฒนาและสร้างบรรยากาศการซื้อขายในตลาดคาร์บอนเครดิต ที่ผ่านมา และเพื่อให้ภาคธุรกิจไทยพร้อมรับมือการบังคับใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศคู่ค้าได้ในอนาคต
-
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และ Carbon Tracking เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ปัจจุบันสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการซื้อขายพลังงานสะอาด และคาร์บอนเครดิตหรือ FTIX เพื่อเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของ อบก. ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวก ลดความยุ่งยากให้แก่ภาคธุรกิจซึ่งเดิมต้องเจรจาซื้อขายกับธุรกิจที่มีคาร์บอนเครดิตส่วนเกินแบบทำการตกลงราคาและปริมาณที่จะซื้อขายกันเองในระบบทวิภาค (over-the-counter) พร้อมทั้งรองรับการซื้อขายใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่ง ส.อ.ท. อยู่ระหว่างทดสอบในโครงการ ERC Sandbox 2 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ก็อยู่ระหว่างการเตรียมขายไฟฟ้าสีเขียว (Green Tariff) ที่ได้จากโครงการผลิตพลังงานสะอาดแก่ภาคธุรกิจด้วย3 ซึ่งก็จะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถลดและติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองได้คล่องตัว และสะดวกมากยิ่งขึ้นได้
โดยสรุป
ธุรกิจที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน หรือมีต้นทุนสูงในการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในระยะสั้นจะได้รับประโยชน์จากราคาคาร์บอนเครดิตของไทยที่ยังอยู่ในระดับต่ำในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจของตนเองด้วยต้นทุนต่ำ ทั้งนี้ ในระยะกลาง
การพัฒนาปรับปรุงมาตรฐานคาร์บอนเครดิตของไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขยายความต้องการคาร์บอนเครดิตของไทยไปยังตลาดต่างประเทศ ส่งผลให้ช่องว่างทางราคาของคาร์บอนเครดิตของไทยใกล้เคียงกับตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้ธุรกิจที่ดำเนินโครงการเพื่อสร้างคาร์บอนเครดิต เช่น โครงการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีการดูดซับและกักเก็บก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุนพัฒนาโครงการมากขึ้น ประกอบกับการรวมกลุ่มของภาคเอกชนที่ช่วยสร้างให้เกิดบรรยากาศการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายในประเทศ และการพัฒนาแพลตฟอร์มของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) หรือใบรับรองด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ในอนาคต ก็จะช่วยเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างพื้นฐาน สร้างบรรยากาศที่ดีต่อการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของไทยในระยะยาว และช่วยให้ธุรกิจไทยบรรลุการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย
-----------------------------------------------------------------------
1 ข้อมูลจาก อบก. ณ 25 พฤษภาคม 2565 และ SBTi
2 Our World in Data
3 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน, 26 กันยายน 2565
|
Click ชมคลิป
ตลาดคาร์บอนเครดิตไทย...โอกาสของภาคธุรกิจ
|
Scan QR Code
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น