ในช่วงฤดูฝน ปัญหาขยะมักจะทวีความรุนแรงขึ้นเนื่องจากฝนตกหนักและน้ำท่วมขัง ซึ่งอาจส่งผลต่อปัญหาสุขอนามัย อีกทั้งยังสร้างก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการหมักหมม นอกเหนือจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้แก่ ก๊าซมีเทน (CH4) และก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ซึ่งมีศักยภาพในการส่งผลต่อภาวะโลกร้อนสูง
ทั้งนี้ ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากขยะและจากการจัดการขยะราว 12.9 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือประมาณ 2.8% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดต่อปี ทำให้ประเทศต้องเร่งแก้ไขปัญหาการจัดการขยะ
การจัดการขยะเพื่อขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตเป็นวิธีหนึ่งที่หลายประเทศใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างมูลค่าเพิ่มจากการจัดการขยะ
ตัวอย่างการจัดการขยะผ่านกลไกคาร์บอนเครดิตในประเทศต่างๆ
-
สหภาพยุโรป: กำลังพิจารณารวมโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการขยะในระบบการซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก EU Emissions Trading System (EU ETS) ซึ่งเป็นกลไกภาคบังคับ
-
ญี่ปุ่น: อนุญาตให้โครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการขยะสามารถขึ้นทะเบียนและรับคาร์บอนเครดิตได้ในโครงการ J-Credit Scheme
-
สหรัฐอเมริกา: มีโครงการหลายโครงการที่มุ่งเน้นการลดก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการขยะ เช่น การนำขยะอินทรีย์ไปทำปุ๋ยหมักและการผลิตพลังงานจากขยะ โดยสามารถนำไปขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตในมาตรฐานภาคเอกชนได้ เช่น Verra
-
ไทย: โครงการ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) อนุญาตให้โครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการขยะสามารถขึ้นทะเบียนและรับคาร์บอนเครดิตได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการใช้กลไกคาร์บอนเครดิตจะเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยลดผลกระทบจากขยะในช่วงฤดูฝนและช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากการคัดแยกขยะ และนำไปรีไซเคิล
โครงการคาร์บอนเครดิตประเภทการจัดการของเสีย
-
การทำปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์: ช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากการย่อยสลายในที่ฝังกลบ
-
การใช้พลังงานจากขยะ: การเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
-
การกักเก็บและนำก๊าซมีเทนกลับมาใช้ประโยชน์
-
การจัดการน้ำเสียในภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการประเภทการจัดการขยะมีมูลค่าทั้งสิ้น 39.9 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนปริมาณการซื้อขายส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ การจัดการน้ำเสียในภาคอุตสาหกรรม การกักเก็บและนำก๊าซมีเทนกลับมาใช้ประโยชน์
อย่างไรก็ดี การจัดการขยะผ่านกลไกคาร์บอนเครดิตด้วยโครงการประเภทการผลิตเชื้อเพลิงจากขยะมูลฝอย และการทำปุ๋ยหมัก ยังคงมีปริมาณน้อยแต่มีมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในระดับสูง โดยมีราคาเฉลี่ย 229 – 248 บาทต่อตัน สะท้อนโอกาสการจัดการขยะ และสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยเพิ่มเติม
|
Click ชมคลิป กลไกคาร์บอนเครดิต กับ Solution การจัดการขยะในประเทศไทย |
Scan QR Code
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น