Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 ตุลาคม 2563

Econ Digest

นโยบายสะสมสต๊อกสินค้าโภคภัณฑ์จีน ดันราคาสินค้าฯ โลกเร่งตัวแรง

คะแนนเฉลี่ย
            ในเดือนก.ย. 2563 จีนได้มีการส่งสัญญาณเชิงบวกต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจของจีนที่มีต่อการวางกลยุทธ์ของประเทศในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2564-2568) โดยเฉพาะในประเด็นการกลับมาเร่งสะสมสต๊อกสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเน้นเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร อันจะทำให้ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรของจีนเพิ่มขึ้น และอาจเป็นแรงผลักสำคัญให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรโลกปรับตัวสูงขึ้น

            ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะสั้น (ปี 2564-2566) ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรส่วนเพิ่มที่พุ่งขึ้นจากนโยบายของจีน จะทำให้ราคาสินค้าดังกล่าวในช่วงนี้เร่งตัวขึ้นแรง แต่คงเป็นเพียงระยะสั้น และยังต้องติดตามนโยบายอื่น ๆ ของจีนที่อาจมีผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรได้เช่นกัน จากนั้นคาดว่าจีนน่าจะรักษาระดับอุปสงค์ที่มีต่อสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรส่วนเพิ่มต่อไปอีกราว 5 ปี (ปี 2567-2571) เพื่อสร้างความมั่นใจด้านอาหารต่อไปอีกระยะ ทำให้ราคาน่าจะทรงตัวอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ในระยะยาว ตั้งแต่ปี 2572 เป็นต้นไป คาดว่าจีนจะมีการปรับเปลี่ยนไปสู่ยุคเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรของจีนลดลง ซึ่งอาจทำให้ราคาสินค้าดังกล่าวปรับตัวลดลงในระยะยาว

            ​เมื่อวิเคราะห์เฉพาะตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ส่วนที่เป็น Soft Commodity ซึ่งน่าจะกระทบต่อไทยโดยตรง เพราะสินค้าเกษตรเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย และจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอันดับหนึ่งของไทยด้วยสัดส่วนราว 28.1% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดของไทย ทำให้ไทยได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าเกษตรในตลาดโลก ซึ่งแม้ในระยะสั้นไทยจะได้รับประโยชน์จากราคาที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในรายการส่งออกหลักของไทยไปจีนอย่างยางพารา มันสำปะหลัง ข้าว และน้ำตาลทราย แต่ในระยะยาวไทยอาจเสียประโยชน์เมื่อราคาอยู่ในช่วงขาลง ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งตระหนักถึงผลของนโยบายจีนต่อราคาสินค้าเกษตรไทยและเตรียมรับมือด้วยการเร่งพัฒนาขีดความสามารถของการผลิตในภาคเกษตร เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารและป้องกันความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรที่มีมากขึ้น







                                                                                                                                                                                                              ขอบคุณภาพจาก  Shutterstock.com​


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest