Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 มีนาคม 2563

Econ Digest

โควิด-19… สร้างสถิติใหม่ธุรกิจประกัน จุดกระแส...ซื้อประกันผ่านช่องทางดิจิทัล

คะแนนเฉลี่ย

​              สถานการณ์การเฝ้าระวังเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในไทยที่ทวีความเข้มข้นขึ้น ประกอบกับความตื่นตัวของประชาชนที่สูงขึ้นตามการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก เป็นตัวช่วยที่สร้างสถิติใหม่ในด้านจำนวนลูกค้าที่เข้าดูและซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยโควิด-19 ผ่านทางแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ ของทั้งบริษัทและตัวกลางประกันภัย (โบรกเกอร์) ซึ่งอาจมองได้ว่า เป็นปัจจัยบวกใหม่สำหรัอุตสาหกรรมประกันภัย

              คาดว่า ภายในเดือนมีนาคม 2563 ยอดขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 มีแนวโน้มแตะระดับ 2-3 ล้านฉบับ ทำลายสถิติประกันภัย 10 บาท ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2561 ที่เคยทำไว้ที่1.3 ล้านฉบับ อาจกล่าวได้ว่าข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นตัวช่วยจุดกระแสความตื่นตัว การยอมรับ และความคุ้นเคยต่อการซื้อประกันของบุคคลทั่วไป (รายย่อย) ผ่านช่องทางดิจิทัลและสาขา

             อย่างไรก็ดี อัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับความคุ้มครองพื้นฐานเฉลี่ยที่ 0.5-1.0% ของทุนประกัน หรือประมาณ 500-1,000 บาท/ความคุ้มครอง 1 แสนบาท ทำให้แม้ว่าจะมีผู้ซื้อประกันรวมสูงถึง 2-3 ล้านราย แต่เบี้ยประกันรับรวมจะอยู่ที่ระดับ 2-3 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.20-0.35% ของเบี้ยรับรวม 8.55 แสนล้านบาท (รวมทั้งประกันวินาศภัยและประกันชีวิต) จากอุตสาหกรรมประกันชีวิตและวินาศภัยในปี 2562 ดังนั้น ถึงแม้ว่า ประกันโควิด-19 จะมีส่วนช่วยกระตุ้นตลาดประกันได้ในระยะนี้ แต่ภาพรวมธุรกิจประกันทั้งปี ยังอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่สูงขึ้นในปีนี้

              ภายใต้สมมติฐานที่จีดีพีในปีนี้มีโอกาสเติบโตต่ำมากหรือชะลอกว่านั้น หากสถานการณ์การระบาดยืดเยื้อเกินครึ่งแรกของปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าเบี้ยประกันภัยรับตรงรวมของบริษัทประกันวินาศภัยปี 2563 อาจชะลอลงมาที่ 0-2% จาก 5.2% ในปี 2562  จากการชะลอตัวทุกประเภทหลักของการรับประกัน แม้จะมีประกันโควิด-19 เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่มขึ้นก็ตาม สำหรับในส่วนของธุรกิจประกันชีวิต คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเศรษฐกิจและทิศทางดอกเบี้ยขาลง จนอาจทำให้เบี้ยประกันชีวิตรับรวมหดตัวลงติดต่อกันเป็นปีที่สองที่ระดับ -1% ถึง -2.5% จากปี 2562 ที่หดตัวไป -2.6%

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest