Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 กันยายน 2563

Econ Digest

Cross-border Data Flows ข้อตกลงการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลข้ามแดน โอกาสธุรกิจผู้ประกอบการไทย

คะแนนเฉลี่ย
               ปัจจุบัน การไหลของข้อมูลข้ามพรมแดน (Cross-border Data Flows) มีความสำคัญยิ่งต่อการเติบโตของธุรกิจและการค้าโลก โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาหนุนให้เศรษฐกิจโลกเติบโตเพิ่มขึ้นราว 3.0% คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ฯ โดยธุรกิจต้องอาศัยข้อมูลเหล่านี้ในการเข้าใจสภาวะตลาดและลูกค้า และบริหารจัดการการค้าและห่วงโซ่อุปทานการผลิตระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี การขยายตัวอย่างรวดเร็วของข้อมูลที่ถูกเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนตามการขยายตัวของบริการทางอินเทอร์เน็ต ทำให้หลายประเทศเริ่มกังวลเกี่ยวกับการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลและความมั่นคงของประเทศ และออกกฎหมายในการกำกับดูแลข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการควบคุมการโอนย้ายข้อมูลดังกล่าวออกนอกประเทศ โดยไม่ยินยอมให้มีการไหลออกของข้อมูลส่วนบุคคลไปยังประเทศที่มีมาตรฐานการคุ้มครองที่ต่ำกว่า

               ทั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบการควบคุมดังกล่าวต่อภาคธุรกิจ หลายประเทศได้รวมกลุ่มกันทำข้อตกลงใช้มาตรฐานคุ้มครองข้อมูลในเกณฑ์เดียวกัน เพื่อให้เกิดการไหลของข้อมูลอย่างอิสระและลดข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจข้ามประเทศภายในกลุ่ม แต่การดำเนินการดังกล่าวทำให้เกิดการแบ่งแยกข้อมูลออกเป็นกลุ่มประเทศ ซึ่งทำให้เกิดข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจข้ามประเทศ โดยเฉพาะด้านการค้า ซึ่งภายใต้แนวโน้มดังกล่าว องค์กรธุรกิจเริ่มนำปัจจัยการเคลื่อนย้ายข้อมูลส่วนบุคคลข้ามพรมแดนเข้ามาพิจารณาในการเลือกประเทศลงทุนเพื่อเป็นฐานการดำเนินธุรกิจของตน

               ​สำหรับไทย แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งสอดคล้องกับกรอบข้อตกลงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของอาเซียน แต่โจทย์สำคัญต่อไปคือ การเจรจาเข้าร่วมกลุ่มการเคลื่อนย้ายข้อมูลข้ามพรมแดนกับนานาประเทศ เพื่อสร้างจุดแข็งรองรับและดึงดูดการลงทุน และสร้างความสะดวกในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในอนาคต ปัจจุบันกลุ่มประเทศที่มีข้อตกลงการไหลของข้อมูลส่วนบุคคลข้ามประเทศอย่างเสรี ได้แก่ GDPR CPTPP (ยกเว้นเวียดนาม) USMCA ASEAN (ยกเว้นเวียดนาม) และ APEC CBPR ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่ม ASEAN เพียงกลุ่มเดียว สำหรับกลุ่มที่กำหนดให้เก็บข้อมูลอยู่ในประเทศ คือ จีน รัสเซีย เวียดนามและอินเดีย



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest