Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 พฤศจิกายน 2564

Econ Digest

KResearch : วิเคราะห์ข่าวเช้าเศรษฐกิจ (30 พฤศจิกายน 2564)

คะแนนเฉลี่ย
​​​​​ตลาดหุ้นเอเชียอาจฟื้นกลับตามทิศทางหุ้นสหรัฐฯ วานนี้ ... ระหว่างรอรอติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไวรัสโอไมครอน
- ตลาดหุ้นเอเชียวานนี้เผชิญแรงขายต่อเนื่องจากวันศุกร์ที่ผ่านมาท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อว่า โอไมครอน โดยตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้รับปัจจัยกดดันเพิ่มเติมจากมาตรการปิดเมือง ด้านตลาดหุ้นจีนมีแรงขายในหุ้นกลุ่มเหมือง เนื่องจากทางการจีนส่งสัญญาณดูแลกลไกราคาถ่านหิน แต่กรอบขาลงของหุ้นจีนยังจำกัดเพราะมีแรงหนุนกลับในหุ้น Healthcare
- ส่วนตลาดหุ้นไทยร่วงลงหนักหลุดระดับ 1,600 จุด และปิดที่ 1589.69 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 3 เดือน นักลงทุนต่างชาติ สถาบันในประเทศ และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ แรงขายต่อเนื่องรวมกันถึง 8.8 พันล้านบาท 
- บรรยากาศการลงทุนฟื้นตัวกลับในช่วงตลาดยุโรปและสหรัฐฯ โดยดัชนีหุ้นหลักของสหรัฐฯ ทั้ง 3 ดัชนีกลับมาปิดในแดนบวก หลังจากมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากแอฟริกาใต้ออกมาเปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนมีอาการไม่รุนแรง รับรู้รสและกลิ่นได้ ขณะที่ปธน. โจ ไบเดน ยืนยันว่า จะไม่มีการล็อกดาวน์หรือจำกัดการเดินทาง หากประชาชนมีการฉีดวัคซีนและสวมหน้ากากอนามัย อย่างไรก็ดี ประธาน Fed มีท่าทีที่ระมัดระวังกว่า โดยระบุว่า ยังคงต้องรอติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของโอไมครอน ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ 
- เงินดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้น เพิ่มแรงกดดันต่อราคาทองคำ ด้านราคาน้ำมันกลับมาปิดบวกจากแรงซื้อคืนสัญญาน้ำมันก่อนผลการประชุม OPEC+ 
- รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังระบุว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนต.ค. เริ่มปรับดีขึ้น ขณะที่รมว.คลัง มองว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะสามารถเติบโตได้ที่ 4% ด้าน ธปท. ระบุว่าไวรัสโอไมครอนอาจกระทบภาคการท่องเที่ยว และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าลง โดยจะมีการพิจารณาเพิ่มเติมในการประชุมกนง. ครั้งถัดไป (22 ธ.ค.64) 
- เงินบาทแข็งค่ากลับมาทดสอบแนว 33.60 หลังวานนี้แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 7 สัปดาห์ที่ 33.77 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตามแรงขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของต่างชาติ
- ปัจจัยติดตาม: สถานการณ์โควิด-19 โอไมครอน / PMI ภาคการผลิตและภาคบริการของจีน / อัตราเงินเฟ้อยุโรป / ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ / รายงานภาวะเศรษฐกิจการเงินจากธปท.​

 


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest