Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 เมษายน 2564

Econ Digest

หนี้ครัวเรือน 2564 แนวโน้มสูงต่อเนื่อง คาด... ขยายตัวในกรอบ 89-91% ต่อ GDP

คะแนนเฉลี่ย

จากข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนล่าสุดไตรมาส 4/63 บ่งชี้ว่า หนี้ครัวเรือนของไทยปิดสิ้นปี 2563 ด้วยจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 18 ปี โดยระดับหนี้ครัวเรือนทะลุ 14 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 89.3%  เมื่อเทียบกับจีดีพีปี 2563 อย่างไรก็ดี หากมองในมิติอัตราการเติบโตของหนี้ จะพบว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนปี 2563 เพิ่มขึ้นเพียง 3.9% เป็นอัตราการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี แสดงให้เห็นว่า ทั้งผู้กู้และผู้ปล่อยกู้ ต่างเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ในช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลงจากผลกระทบของโควิด 19 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีข้อสังเกตว่า สินเชื่อภาคครัวเรือนที่ยังเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจได้นั้น สะท้อนสถานะของผู้กู้และวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมที่แตกต่างกัน ระหว่างผู้กู้ 2 กลุ่ม โดย กลุ่มแรก เป็นการกู้ยืมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย หรือรถยนต์ ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อปานกลางค่อนไปทางสูง และรายได้ไม่ได้ถูกกระทบมากจากสถานการณ์โควิด และกลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีความจำเป็นต้องก่อหนี้ เพื่อใช้เสริมสภาพคล่อง หรือ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน และสถานะทางการเงินอ่อนแอลงตามทิศทางเศรษฐกิจ   

นอกจากนี้ข้อมูลจากสำรวจภาวะหนี้สินและเงินออมของศูนย์วิจัยกสิกรไทย สะท้อนว่า ภาระหนี้สินและเงินออมของผู้กู้รายย่อยที่ประกอบธุรกิจ และผู้กู้รายย่อยที่มีปัญหาด้านรายได้ ถดถอยลงมากจากผลกระทบของวิกฤตโควิด 19 มีภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio--DSR) ต่อเดือนในช่วงต้นปี 2564 อยู่ที่ 44.1% และ 43.8% ตามลำดับ ซึ่งภาระหนี้ของผู้กู้ทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าวอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ย DSR ของผู้ตอบแบบสอบถามในผลสำรวจฯ ซึ่งอยู่ที่ 42.8% ขณะที่ข้อมูลในฝั่งการออมของภาคครัวเรือน ก็สะท้อนว่า ระดับการออมของครัวเรือนทุกกลุ่ม ลดต่ำลงจากผลกระทบของโควิด 19 ด้วยเช่นกัน

สำหรับแนวโน้มในปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวขึ้น น่าจะทำให้เงินกู้ยืมของภาคครัวเรือนปี มีโอกาสเติบโตขึ้นสูงกว่าปี 2563  ซึ่งภาพดังกล่าว อาจส่งผลต่อเนื่องให้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ขยับสูงขึ้นมาอยู่ในกรอบประมาณ 89.0-91.0% ต่อจีดีพี ซึ่งภาครัฐ คงต้องหันกลับมาดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างจริงจัง เมื่อวิกฤตโควิด 19 สิ้นสุดลง​

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest