Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 มีนาคม 2564

Econ Digest

โควิด...ยังไม่จบ สินเชื่อฟื้นฟู พักทรัพย์พักหนี้ เพิ่มทางเลือกผู้ประกอบการ & บรรเทาภาระสถาบันการเงิน

คะแนนเฉลี่ย

ล่าสุดทางการไทยร่วมกับสมาคมธนาคารไทยได้ออกมาตรการสินเชื่อพิเศษหรือสินเชื่อฟื้นฟูใหม่ และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ซึ่งช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และช่วยบรรเทาภาระสถาบันการเงินจากการตั้งสำรองฯ

มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูรอบใหม่: แก้จุดอ่อนหลักของ พ.ร.ก. Soft Loan เดิม ขยายระยะเวลาโครงการให้ยาวถึง 5 ปี มีการชดเชยความเสียหายด้วยการค้ำประกันของบสย. ยาวถึง 10 ปี ขยายขอบเขตลูกหนี้ที่สามารถเข้าโครงการได้โดยกำหนดขนาดไม่เกิน 500 ล้านบาท รองรับลูกค้ารายใหม่ที่ไม่เคยมีสินเชื่อกับสถาบันการเงิน และวงเงินของมาตรการใหม่อยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท 

โครงการพักทรัพย์พักหนี้: เพิ่มทางเลือกกับผู้ประกอบการที่มองว่าธุรกิจของตนยังไม่ได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่และต้องการทำธุรกิจต่อ ภายใต้วงเงินรวม 1 แสนล้านบาท โดยหลังจากการพักทรัพย์ไว้ที่สถาบันการเงินในราคาตีโอนที่ตกลงกัน (ซึ่งสูงสุดไม่เกินยอดคงค้างของสินเชื่อบวกดอกเบี้ยค้างรับ ที่จะต้องไม่เกิน 80% ของมูลค่าหลักประกัน) นั้น ลูกหนี้จะสามารถเว้นการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับหนี้ที่ได้รับการตีโอนดังกล่าว เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งแม้ว่าการเช่าทรัพย์สินคืน ลูกหนี้ต้องจ่ายค่าเช่าให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้และมี Carrying Cost แต่สุทธิแล้วน่าจะต่ำกว่าการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้บนสัญญาเดิม อีกทั้งยังสามารถนำค่าเช่ามาหักออกจากราคาซื้อคืนได้เมื่อสิ้นสุดปีที่ 5 รวมถึงสามารถขอสินเชื่อพิเศษใหม่เพื่อจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจ้างพนักงาน และค่าดูแลโรงแรม เพื่อคงสภาพเปิดดำเนินงานได้ในระหว่างทาง อีกทั้งในช่วงเปลี่ยนผ่านของมาตรการยังสามารถขอ Debt Holiday จากสถาบันการเงินได้ด้วย และเมื่อใกล้สิ้นสุดปีที่ 5 ผู้ประกอบการสามารถขอสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงินเดิมเพื่อซื้อทรัพย์คืนได้เช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของโครงการขึ้นกับ 1) แนวโน้มเศรษฐกิจและกิจกรรมการท่องเที่ยวในระยะที่เหลือของปีนี้ และอีก 3-5 ปีข้างหน้า 2) บทสรุปของข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่า มาตรการอาจไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มที่ทำธุรกิจ โดยกลุ่มที่เช่าที่ดินและไม่ได้มีกรรมสิทธิ์บนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ กลุ่มผู้ประกอบการขนาดย่อมในกรณีของธุรกิจที่พักแรม อาจต้องพิสูจน์ศักยภาพด้านการแข่งขัน ดังนั้น ทางการอาจต้องพิจารณาแนวทางดูแลสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กเพิ่มเติม และต้องประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการเป็นระยะ เพื่อวางแนวทางจัดการ หรือปรับปรุงที่เหมาะสมต่อไป


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest