การท่องเที่ยวในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2566 กลับมาคึกคักอีกครั้งในรอบ 2 ปี ทั้งจากคนไทยที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น และชาวต่างชาติที่มีแผนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วงปลายปีมากขึ้น คาดว่าในระหว่างวันที่ 30 ธ.ค. 65 ถึง 2 ม.ค 66 จะมีเม็ดเงินกระจายสู่ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องคิดเป็นมูลค่าราว 30,000 ล้านบาท จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยราว 14,500 ล้านบาทและนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 15,500 ล้านบาท ซึ่งรวมคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 (ก่อนการระบาดของโควิด)
จากการสำรวจแผนการเดินทางท่องเที่ยวของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2566 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัด แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนแผนการท่องเที่ยว ซึ่งยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของโควิด สำหรับจุดหมายปลายทางซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวไทย จากการรวบรวมข้อมูลการค้นหาที่พักผ่าน Destination Insights with Google พบว่า จังหวัดที่มีการค้นหาสูงเป็นลำดับต้นๆ ยังคงเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวภูเขา/ยอดดอย เนื่องจากนักท่องเที่ยวต้องการสัมผัสบรรยากาศหนาวเย็นและชมแสงอาทิตย์แรกของปี
ในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค. 65 คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2566 เนื่องจากหลายเมืองในประเทศไทย อาทิ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวอันดับต้นของโลกในการมาเฉลิมฉลองเพื่อนับถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่ รวมถึงหน่วยงานรัฐและเอกชนยังจัดกิจกรรมในหลายพื้นที่ ซึ่งน่าจะช่วยหนุนบรรยากาศการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติกลับมาคึกคักมากขึ้น โดยในภาพรวม จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากทุกภูมิภาค รวมถึงนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรป ที่คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ยังต่ำกว่าศักยภาพหรือเทียบกับปกติที่ในช่วงเวลานี้มักจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากหลายประเทศในยุโรปกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและวิกฤตพลังงาน สำหรับจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจ ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี (เช่น พัทยา) ภูเก็ต (เช่น ป่าตอง หาดราไวย์) กระบี่ และสุราษฎร์ธานี
|
Click ชมคลิป ฉลองปีใหม่…เที่ยวไทยคึกคัก คาด 4 วัน นักท่องเที่ยวไทย-เทศ ใช้จ่ายสะพัด 3 หมื่นล้านบาท
|
Scan QR Code
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น