สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท
- เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดรอบ 7 เดือนที่ 33.03 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้เงินบาทอ่อนค่าลงช่วงสั้น ๆ ต้นสัปดาห์ตามการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก แต่ทยอยแข็งค่ากลับมาในช่วงกลางสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางเงินทุนต่างชาติ ที่สลับมาอยู่ในฝั่งซื้อสุทธิทั้งในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยในช่วงก่อนการประชุมกนง. ซึ่งมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาที่ 1.75% ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ เผชิญข้อจำกัดในการฟื้นตัวเนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนของการเริ่มเจรจาการค้าอย่างเป็นทางการระหว่างสหรัฐฯ และจีน เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง และแตะระดับแข็งค่าสุดรอบ 7 เดือนที่ 33.03 บาทต่อดอลลาร์ฯ ช่วงปลายสัปดาห์ แม้ว่าจะมีประเด็นที่ Moody’s ปรับมุมมองที่มีต่อแนวโน้มอันดับเครดิตไทยและสถาบันการเงิน 7 แห่ง เป็น “เชิงลบ” จาก “มีเสถียรภาพ” โดยเงินบาทมีแรงหนุนจากการแข็งค่าของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคและเงินหยวนในตลาดออฟชอร์ หลังเริ่มมีสัญญาณเกี่ยวกับการเตรียมเจรจาเรื่องภาษีการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ประกอบกับมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก
- สัปดาห์ระหว่างวันที่ 5-9 พ.ค. 2568 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.80-33.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมเฟด (6-7 พ.ค.) การประชุม BOE (8 พ.ค.) สถานการณ์ของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ราคาทองคำในตลาดโลก ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนเม.ย. ของสหรัฐฯ จีน ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนเม.ย. ของไทย รวมถึงตัวเลขการส่งออกและข้อมูลเศรษฐกิจอื่นในเดือนเม.ย. ของจีน
สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย
- ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้น โดยมีแรงหนุนจากผลการประชุมกนง. และนักลงทุนคลายกังวลบางส่วนต่อประเด็นสงครามการค้า ทั้งนี้ดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงแรก ก่อนจะดีดตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ แม้ระหว่างสัปดาห์จะมีปัจจัยลบจากประเด็น Moody’s ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยลงมาเป็น “เชิงลบ” ก็ตาม โดยปัจจัยที่หนุนดัชนีหุ้นไทย ได้แก่ แรงซื้อหุ้นบิ๊กแคป โดยเฉพาะหุ้นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่งหลังผลประกอบการไตรมาส 1/2568 ออกมาดีกว่าตลาดคาดการณ์ การปรับลดดอกเบี้ยของ กนง. ตลอดจนนักลงทุนคลายความกังวลบางส่วนต่อประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน หลังมีรายงานข่าวว่าสหรัฐฯ มีท่าทีประนีประนอม และจีนกำลังพิจารณาข้อเสนอสำหรับการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ นอกจากนี้ ดัชนีหุ้นไทยยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมในช่วงท้ายสัปดาห์จากการเปิดขายกองทุน Thai ESGX ซึ่งเป็นกองทุนรูปแบบใหม่ที่คาดว่าจะมีส่วนช่วยพยุงหุ้นไทย อย่างไรก็ดี กรอบการปรับขึ้นของดัชนีหุ้นไทยเริ่มจำกัดในช่วงท้ายสัปดาห์ โดยเผชิญแรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มพลังงาน และกลุ่มแบงก์จากประเด็นที่ Moody’s ปรับมุมมองแนวโน้มอันดับเครดิตของสถาบันการเงิน 7 แห่งเป็น “เชิงลบ” จาก “มีเสถียรภาพ”
- สัปดาห์ที่ 5-9 พ.ค. 2568 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,170 และ 1,150 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,215 และ 1,225 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (6-7 พ.ค.) การประชุม BOE (8 พ.ค.) ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนเม.ย. ของไทย ผลประกอบการไตรมาส 1/2568 ของบจ.ไทย ประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนเม.ย. ของสหรัฐฯ จีน ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนเม.ย. ของจีน
Scan QR Code
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น