Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 มิถุนายน 2566

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 29 พ.ค. – 2 มิ.ย. 66)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทอ่อนค่าลงตามเงินหยวนและสกุลเงินเอเชียในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงหนุนเงินดอลลาร์ฯ จากตัวเลขเงินเฟ้อ PCE/Core PCE เดือนเม.ย. ของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาด ซึ่งหนุนโอกาสการคุมเข้มนโยบายการเงินต่อเนื่องของเฟด นอกจากนี้เงินบาทยังมีปัจจัยลบจากตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนเม.ย. ที่หดตัวลงมากกว่าที่คาด และจากสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี เงินบาทแข็งค่ากลับมาในช่วงปลายสัปดาห์ หลังสภาคองเกรสผ่านร่างกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้แรงหนุนเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะสกุลเงินปลอดภัยมีน้อยลง ประกอบกับข้อมูล ISM ภาคการผลิตที่อ่อนแอและท่าทีของเจ้าหน้าที่เฟด กระตุ้นให้ตลาดทยอยปรับการคาดการณ์กลับมาให้น้ำหนักกับโอกาสที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมที่ 5.00-5.25%  ในการประชุม FOMC วันที่ 13-14 มิ.ย. นี้
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 5-9 มิ.ย. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.30-34.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การเมืองและอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ของไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนพ.ค. ของสหรัฐฯ จีน ยูโรโซน และอังกฤษ ผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/66 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจเดือนพ.ค. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิต  


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยปิดใกล้เคียงระดับปิดสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้หุ้นไทยดีดตัวขึ้นในช่วงแรก ท่ามกลางความคาดหวังเชิงบวกต่อข้อตกลงเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐฯ ก่อนจะทยอยย่อตัวลงในเวลาต่อมาโดยมีแรงกดดันจากตัวเลขส่งออกเดือนเม.ย. ของไทยที่หดตัวมากกว่าตลาดคาด สถานการณ์การเมืองในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน รวมถึงแรงขายสุทธิต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี หุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้ช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางหุ้นต่างประเทศ หลังสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงเพิ่มเพดานหนี้สำเร็จ สำหรับสัปดาห์นี้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นตามแรงซื้อคืนหุ้นบิ๊กแคป ส่วนหุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวขึ้นรับอานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้น
  • สัปดาห์ที่ 5-9 มิ.ย. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,520 และ 1,500 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,545 และ 1,555 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์การเมืองในประเทศ ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนพ.ค. ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและยูโรโซน ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/66 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ค. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิต

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น