Display mode (Doesn't show in master page preview)

6 ตุลาคม 2566

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 2-6 ต.ค. 66)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 11 เดือนที่ 37.24 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระหว่างสัปดาห์ สอดคล้องกับภาพการอ่อนค่าของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นท่ามกลางการคาดการณ์เกี่ยวกับโอกาสการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ หลังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดยังคงมีท่าทีพร้อมคุมเข้มต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อ นอกจากนี้เงินบาทยังมีปัจจัยกดดันจากการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลกและแรงขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงท้ายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงตามการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หลังจากตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.ย. ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดคาด  
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 9-13 ต.ค. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 36.60-37.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์สกุลเงินในภูมิภาค และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ย. ของสหรัฐฯ และจีน ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อและดัชนีความเชื่อมั่นในมุมมองผู้บริโภคเดือนต.ค. ของสหรัฐฯ และบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี 9 เดือนที่ 1,429.99 จุดช่วงกลางสัปดาห์ และร่วงลงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวลงแรงช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงขายต่อเนื่องจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ การอ่อนค่าของเงินบาท รวมถึงการปรับลดประมาณการเศษฐกิจไทยโดยธนาคารโลก หุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบในเวลาต่อมา ก่อนจะร่วงลงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายหุ้นบิ๊กแคป นำโดย กลุ่มพลังงานตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลงจากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวลงของอุปสงค์น้ำมันทั่วโลก
  • สัปดาห์ที่ 9-13 ต.ค. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,415 และ 1,400 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,460 และ 1,470 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ บันทึกการประชุมเฟด (19-20 ก.ย.)  ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ย. ของสหรัฐฯ และจีน รวมถึงผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค. ของยูโรโซน

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น