Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 กันยายน 2566

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 4-8 ก.ย. 66)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนที่ 35.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนฟื้นตัวกลับมาบางส่วนช่วงท้ายสัปดาห์ โดยเงินบาททยอยอ่อนค่าลงสอดคล้องกับการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก การอ่อนค่าของเงินหยวนและสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มที่เปราะบางของเศรษฐกิจจีน ประกอบกับยังมีแรงกดดันต่อเนื่องจากสถานะขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทยด้วยเช่นกัน นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนจากบอนด์ยีลด์ระยะสั้นของสหรัฐฯ ที่ขยับขึ้น และการที่ตลาดกลับมาทบทวนมุมมองที่มีต่อโอกาสความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินต่อเนื่องอีกในการประชุม FOMC รอบที่เหลือของปีนี้ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 11-15 ก.ย. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.20-35.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายละเอียดของนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติและค่าเงินหยวน ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนส.ค. ของสหรัฐฯ ผลการประชุม ECB และตัวเลขเศรษฐกิจเดือนส.ค. ของจีน อาทิ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้หุ้นไทยร่วงลงแรงในช่วงต้นสัปดาห์สวนทางหุ้นภูมิภาค โดยเผชิญแรงขายหลักจากกลุ่มนักลงทุนสถาบัน นำโดย หุ้นกลุ่มพลังงานจากความกังวลเรื่องนโยบายลดค่าครองชีพและข่าวน้ำมันดิบรั่วไหล อย่างไรก็ดีหุ้นไทยขยับขึ้นเล็กน้อยและเคลื่อนไหวในกรอบแคบในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ โดยมีแรงซื้อคืนหุ้นบิ๊กแคปบางกลุ่มเข้ามาช่วยประคอง โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน หลังซาอุดีอาระเบียและรัสเซียขยายเวลาการลดกำลังการผลิตถึงสิ้นปีนี้ ขณะที่นักลงทุนยังรอติดตามการแถลงนโยบายของรัฐบาลในสัปดาห์หน้า พร้อมๆ กับการประเมินแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ
  • สัปดาห์ที่ 11-15 ก.ย. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,540 และ 1,530 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,565 และ 1,580 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนส.ค. ของสหรัฐฯ การประชุม ECB ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนส.ค. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น