Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 มิถุนายน 2566

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 5-9 มิ.ย. 66)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน ก่อนพลิกแข็งค่าปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้น หลังจากสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินแบบเหนือความคาดหมายของธนาคารกลางออสเตรเลียและธนาคารกลางแคนาดา กระตุ้นให้ตลาดกลับมาประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อย่างระมัดระวัง เพราะแม้เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย. แต่ก็อาจจะกลับมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีกครั้งในการประชุมรอบเดือนก.ค.นี้ เช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินบาทล้างช่วงอ่อนค่าลงเกือบทั้งหมดและพลิกแข็งค่ากลับมาในช่วงท้ายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงเทขาย หลังจากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาด ซึ่งอาจทำให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.00-5.25% ตามเดิมในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. นี้
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 12-16 มิ.ย. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.30-34.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงิน dot plots และตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของเฟด (13-14 มิ.ย.) ผลการประชุม ECB (15 มิ.ย.) และ BOJ (15-16 มิ.ย.) สถานการณ์การเมืองไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ตลอดจนดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพ.ค. ของสหรัฐฯ


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน แม้จะย่อตัวลงบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยแกว่งตัวกรอบแคบในช่วงแรกหลังตอบรับปัจจัยบวกอย่างประเด็นเพดานหนี้สหรัฐฯ ไปพอสมควรแล้ว ก่อนจะดีดตัวขึ้นในเวลาต่อมาตามแรงซื้อคืนหุ้นบิ๊กแคปหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ที่มีปัจจัยบวกจากการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย รวมถึงคาดการณ์เกี่ยวกับการคงดอกเบี้ยของเฟดและแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี หุ้นไทยย่อตัวลงบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ ระหว่างรอติดตามสถานการณ์การเมืองในประเทศ และผลการประชุมเฟดวันที่ 13-14 มิ.ย.  
  • สัปดาห์ที่ 12-16 มิ.ย. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,530 และ 1,515 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,560 และ 1,575 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมเฟด (13-14 มิ.ย.) ผลการประชุม ECB (15 มิ.ย.) และ BOJ (15-16 มิ.ย.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์การเมืองในประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพ.ค. ของสหรัฐฯ ตลอดจนดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ค. ของยูโรโซน

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น