Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 มกราคม 2567

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 8-12 ม.ค. 67)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 1 เดือนที่ 35.23 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระหว่างสัปดาห์ โดยเงินบาทเผชิญแรงขายในช่วงต้นสัปดาห์ สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่มีแรงหนุนบางส่วนต่อเนื่องจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งออกมาดีกว่าที่คาด อย่างไรก็ดี เงินบาทดีดตัวกลับมาช่วงสั้นๆ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ขาดแรงหนุน หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ย่อตัวลงในช่วงก่อนการประกาศตัวเลข CPI ของสหรัฐฯ เงินบาทกลับไปอ่อนค่าลงอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ สอดคล้องกับสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของต่างชาติ ขณะที่แรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลงบางส่วน หลังข้อมูล CPI และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่คาด สะท้อนว่า โอกาสการลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนมี.ค. ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 15-19 ม.ค. 2567 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.70-35.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเงินทุนต่างชาติ งาน BOT Policy Briefing ยอดค้าปลีก ยอดขายบ้านมือสองเดือนธ.ค. 66 ของสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค. 2566 ของยูโรโซนและอังกฤษ รวมถึงจีดีพีไตรมาส 4/66 ของจีน


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงเกือบตลอดสัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยทยอยปรับตัวลงตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติและสถาบันในประเทศ โดยรายงานข่าวเกี่ยวกับการขอเลื่อนชำระหนี้หุ้นกู้ของบจ.บางแห่งกดดันบรรยากาศการลงทุนในภาพรวม ส่งผลให้มีแรงขายหุ้นในหลายอุตสาหกรรม นอกจากนี้ กระแสข่าวที่วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐฯ ปรับลดน้ำหนัก (Downgrade) หุ้นกลุ่มแบงก์ของไทยยังเป็นปัจจัยลบที่เข้ามากดดันหุ้นกลุ่มแบงก์เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ โดยมีแรงซื้อคืนหุ้นกลุ่มแบงก์ก่อนประกาศงบไตรมาส 4/66 เข้ามาหนุน
  • สัปดาห์ที่ 15-19 ม.ค. 2567 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,400 และ 1,390 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,435 และ 1,455 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และการทยอยประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 4/66 ของบจ. ไทย โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ ยอดค้าปลีกเดือนธ.ค. ของสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธ.ค. ของญี่ปุ่น ยูโรโซนละอังกฤษ รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 ของจีน

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น