Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 พฤษภาคม 2566

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 8-12 พ.ค. 66)

คะแนนเฉลี่ย

​สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 เดือนที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงแรก ตามจังหวะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ ขาดแรงหนุน หลังจากการเจรจาเพื่อเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ยังคงไม่ได้ข้อสรุป นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยลบจากตัวเลขเงินเฟ้อ CPI ซึ่งชะลอลงในเดือนเม.ย. และหนุนการคาดการณ์ว่า เฟดมีแนวโน้มตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.00-5.25% ตามเดิมในการประชุมเดือนมิ.ย.นี้ อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกและอ่อนค่ากลับมาทดสอบแนว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ตามการปรับตัวลงของทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ประกอบกับน่าจะมีการปรับโพสิชั่นก่อนการเลือกตั้งของไทยในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. นี้   
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 15-19 พ.ค. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.80-34.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การเมืองและตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/66 ของไทย ผลการเจรจาแก้ปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและฟิลาเดลเฟียเดือนพ.ค. ของสหรัฐฯ รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเม.ย. ของยูโรโซน


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • แม้หุ้นไทยขยับขึ้นจากสัปดาห์ก่อน แต่ลดช่วงบวกลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยดีดตัวขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ หลังตลาดกลับมาเปิดทำการหลังช่วงวันหยุด โดยมีแรงหนุนจากแรงซื้อของต่างชาติและนักลงทุนสถาบัน ท่ามกลางการคาดการณ์ว่า ทิศทางเงินเฟ้อของสหรัฐฯ น่าจะชะลอตัวลง ซึ่งทำให้เฟดมีแนวโน้มคงดอกเบี้ยในการประชุมรอบถัดไป ขณะที่หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ปรับขึ้นมากสุด เนื่องจากมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากประเด็นการซื้อหุ้นคืนของบริษัทไฟแนนซ์แห่งหนึ่ง อย่างไรก็ดี หุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบ ก่อนจะเผชิญแรงเทขายช่วงปลายสัปดาห์ระหว่างรอติดตามการเลือกตั้งของไทยซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. นี้ รวมถึงประเด็นเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีข้อสรุป
  • สัปดาห์ที่ 15-19 พ.ค. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,545 และ 1,530 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,575 และ 1,585 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 1/66 ของไทยและญี่ปุ่น ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด สถานการณ์การเมืองในประเทศ อัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น