Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 ตุลาคม 2566

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 9-12 ต.ค. 66)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทพลิกแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ที่ 36.09 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลต่อผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้นหลังมีสัญญาณตึงเครียดในอิสราเอล อย่างไรก็ดีเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่า โดยได้รับอานิสงส์จากการพุ่งขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกและแรงซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ทยอยอ่อนค่าลงตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังเจ้าหน้าที่เฟดบางท่านออกมาให้ความเห็นว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ในช่วงที่ผ่านมา อาจลดความจำเป็นของการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด นอกจากนี้บันทึกการประชุมเฟดล่าสุดยังสะท้อนว่า เจ้าหน้าที่เฟดมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องความจำเป็นที่เฟดจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในระยะข้างหน้า     
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 16-20 ต.ค. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.70-36.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางสกุลเงินเอเชีย สถานการณ์ในอิสราเอล ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย. ของสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย. ของยูโรโซน ตลอดจนการประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 ของจีน


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยย่อตัวลงช่วงปลายสัปดาห์ แต่สามารถปิดบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 6 สัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวลงช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากไร้ปัจจัยใหม่ๆเข้ามาหนุน ประกอบกับตลาดมีความกังวลต่อเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล อย่างไรก็ดีหุ้นไทยฟื้นตัวในเวลาต่อมาตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลบางส่วนต่อทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ หลังเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นว่า อาจไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก หุ้นไทยกลับมาย่อตัวลงอีกครั้ง ซึ่งสวนทางกับตลาดหุ้นในภูมิภาค เนื่องจากมีแรงขายก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวของตลาดในประเทศ
  • สัปดาห์ที่ 16-20 ต.ค. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,440 และ 1,420 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,460 และ 1,470 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ผลประกอบการไตรมาส 3/66 ของบจ.ไทย ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย. ของสหรัฐฯ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.ย. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 และอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนต.ค. ของจีน

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น