Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 มีนาคม 2567

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 11-15 มี.ค. 67)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาททยอยอ่อนค่าลงสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ประกอบกับมีปัจจัยกดดันเพิ่มเติมจากการย่อตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด โดยเฉพาะดัชนีราคาผู้บริโภค (+3.2% YoY ในเดือนก.พ. สูงกว่าตลาดคาดที่ 3.1% YoY) ดัชนีราคาผู้ผลิต (+1.6% YoY ในเดือนก.พ. สูงกว่าตลาดคาดที่ 1.1% YoY) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (ลดลง 1,000 ราย มาที่ 209,000 ราย ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 218,000 ราย) ทั้งนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อและตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ลดทอนโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเห็นเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบการประชุม FOMC ใกล้ๆ นี้ลง
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 18-22 มี.ค. 2567 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.30-36.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติ ผลการประชุมนโยบายการเงิน Dot Plot และตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ทบทวนใหม่ของเฟด (19-20 มี.ค.) ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (18-19 มี.ค.) และธนาคารกลางอังกฤษ (21 มี.ค.) การกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน และข้อมูลเบื้องต้นของ PMI สำหรับเดือนมี.ค. ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยูโรโซนและอังกฤษ


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • หุ้นไทยย่อตัวลงเล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาคท่ามกลางสัญญาณระมัดระวังของนักลงทุนระหว่างรอติดตามตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.พ. ของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดีหุ้นไทยกลับมาปรับตัวขึ้นช่วงกลางสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากการกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์และหุ้นกลุ่มพลังงาน ซึ่งมีปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้น หุ้นไทยย่อตัวลงอีกครั้งในช่วงท้ายสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค หลังจากดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.พ. ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ซึ่งส่งผลทำให้ตลาดกังวลว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับสูงเป็นเวลานาน
  • สัปดาห์ที่ 18-22 มี.ค. 2567 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,375 และ 1,365 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,415 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (19-20 มี.ค.) การประชุม BOJ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ (เบื้องต้น) เดือนมี.ค. ของสหรัฐฯ ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น ตลอดจนการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนมี.ค. และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนม.ค.-ก.พ. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น