Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 กันยายน 2566

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 11-15 ก.ย. 66)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 9 เดือนที่ 35.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ตามค่าเงินเยนที่มีแรงหนุนจากคำกล่าวของผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ระบุว่า BOJ อาจสามารถยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบหากบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดีเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต่อมาตามสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย นำโดย เงินหยวนท่ามกลางความกังวลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจจีนในภาพรวม นอกจากนี้เงินบาทยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนบางส่วนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ตลาดประเมินว่า แม้เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่กรอบ 5.25-5.50% ในการประชุม FOMC วันที่ 19-20 ก.ย. นี้ แต่ก็ยังไม่ตัดโอกาสที่อาจจะเห็นเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในการประชุมรอบถัดๆ ไปในปีนี้  
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 18-22 ก.ย. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.30-36.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุม FOMC, BOJ และ BOE การประกาศอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน ทิศทางเงินทุนต่างชาติและค่าเงินหยวน ดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนก.ย. ของสหรัฐฯ และยูโรโซน ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. ของยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนตลอดสัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยแกว่งตัวอิงขาลงช่วงต้น-กลางสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ นำโดยหุ้นกลุ่มพลังงานจากความกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากนโยบายของภาครัฐ อย่างไรก็ดี หุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงสั้นๆ ในระหว่างสัปดาห์ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ และความหวังว่าเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้ แต่แรงหนุนหุ้นไทยก็ยังคงจำกัด ซึ่งทำให้ดัชนีฯ ย่อตัวลงอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ในระหว่างที่รอปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุน
  • สัปดาห์ที่ 18-22 ก.ย. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,530 และ 1,510 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,555 และ 1,565 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุม FOMC, BOJ และ BOE ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ดัชนี PMI เดือนก.ย. (เบื้องต้น) ของสหรัฐฯ ยูโรโซนและญี่ปุ่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนก.ย. ของจีน

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น