Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 ธันวาคม 2566

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 12-15 ธ.ค. 66)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทพลิกแข็งค่าผ่านระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากที่อ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ หลังจากที่รายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ย. ของสหรัฐฯ (CPI ขยับขึ้น 0.1% MoM แต่ตลาดคาด 0.0% MoM) กระตุ้นการคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะไม่รีบส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการเงิน โดยเงินบาทพลิกแข็งค่าช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ และการร่วงลงอย่างหนักของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังผลการประชุมเฟดสะท้อนว่า เฟดอาจจบรอบการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ขณะที่ Dot plot บ่งชี้ว่า อาจมีการเริ่มปรับลดดอกเบี้ยลง 3 ครั้งในปี 2567 นอกจากนี้สัญญาณตรึงดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไปของ ECB และ BOE ก็เพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ ขณะที่เงินบาทได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากการฟื้นตัวกลับขึ้นมาของราคาทองคำในตลาดโลกและการขยับแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินในภูมิภาค     
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 18-22 ธ.ค. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.40-35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ผลการประชุมนโยบายการเงินของ BOJ การกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของ PBOC อัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือนพ.ย. ของสหรัฐฯ ตลอดจนดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ย. ของยูโรโซนและอังกฤษ


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยแตะจุดต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปีที่ 1,354.73 จุดช่วงกลางสัปดาห์ ก่อนดีดตัวขึ้นหลังผลการประชุมเฟด ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวลงช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติระหว่างที่ยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุน โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์จากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการแก้หนี้ทั้งระบบ และหุ้นกลุ่มพลังงานซึ่งยังเผชิญแรงกดดันจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลง อย่างไรก็ดีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นในเวลาต่อมาตามทิศทางหุ้นต่างประเทศ หลังผลการประชุมเฟดเป็นไปตามคาด ประกอบกับเฟดได้ส่งสัญญาณจบวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้และอาจปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2567 ส่งผลให้มีแรงซื้อคืนหุ้นในทุกอุตสาหกรรม
  • สัปดาห์ที่ 18-22 ธ.ค. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,370 และ 1,350 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,425 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนพ.ย. ของสหรัฐฯ การประชุม BOJ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ย. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ตลอดจนการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนธ.ค. ของจีน


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น