Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 มีนาคม 2566

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 13-17 มี.ค. 66)

คะแนนเฉลี่ย

​สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนที่ 34.13 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแข็งค่าเกือบตลอดสัปดาห์สอดคล้องกับสกุลเงินเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขาย หลังจากที่ปัญหาของธนาคารบางแห่งในสหรัฐฯ ทำให้ตลาดประเมินว่า เฟดอาจไม่ส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินได้มากนักในการประชุม FOMC เดือนมี.ค. นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก และการเข้าซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ เงินบาทอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ ในระหว่างสัปดาห์ ก่อนจะกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ท่ามกลางสัญญาณที่สะท้อนว่ามีการเข้าช่วยเหลือด้านสภาพคล่องในแบงก์ที่ประสบปัญหาทั้งในสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ ประกอบกับเงินบาทน่าจะมีแรงหนุนตามปัจจัยทางเทคนิคด้วยเช่นกัน
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 20-24 มี.ค. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.80-34.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงิน dot plot และตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของเฟด ผลการประชุม BOE อัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน ประเด็นปัญหาของแบงก์ในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ สถานการณ์เงินลงทุนของต่างชาติและสกุลเงินเอเชีย ตัวเลขการส่งออกเดือนก.พ. ของไทย ตลอดจนข้อมูล PMI (เบื้องต้น)สำหรับเดือนมี.ค. ของสหรัฐฯ ยูโรโซน และอังกฤษ


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • หุ้นไทยร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือนที่ 1,518.66 จุดในช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากกังวลปัญหาของภาคธนาคารสหรัฐฯ หลังธนาคารบางแห่งประสบปัญหาและถูกสั่งปิดกิจการ โดยปัจจัยดังกล่าวกดดันบรรยากาศการลงทุนในภาพรวม หุ้นไทยย่อตัวลงช่วงสั้นๆอีกครั้งระหว่างสัปดาห์ หลังมีรายงานข่าวเชิงลบเกี่ยวกับสถาบันการเงินรายใหญ่แห่งหนึ่งของสวิตเซอร์แลนด์ อย่างไรก็ดี หุ้นไทยทยอยฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ตามปัจจัยทางเทคนิค ประกอบกับมีข่าวเกี่ยวกับการเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินที่มีปัญหา ซึ่งช่วยคลายความกังวลของนักลงทุนลงบางส่วน
  • สัปดาห์ที่ 20-24 มี.ค. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,535 และ 1,515 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,575 และ 1,585 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (21-22 มี.ค.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนมี.ค. ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยูโรโซน อัตราดอกเบี้ย LPR เดือนมี.ค. ของจีน การประชุม BOE ตลอดจนประเด็นการเมืองภายในประเทศ

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น