Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 เมษายน 2566

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 17-21 เม.ย. 66)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทมีแรงหนุนช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ตามทิศทางเงินหยวน หลังจากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/66 ของจีนออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด แต่ภาพรวมในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ยังคงเป็นการเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่า เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยบวกจากท่าทีของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งหนุนการคาดการณ์เกี่ยวกับโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC วันที่ 2-3 พ.ค.นี้ นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิทั้งหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ตามการฟื้นตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกและทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยลบจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาอ่อนแอ อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และยอดขายบ้านมือสองเดือนมี.ค.
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 24-28 เม.ย. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.00-34.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสกุลเงินเอเชีย ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น ตัวเลขการส่งออกและรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนมี.ค. ของไทย อัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Index เดือนมี.ค. ของสหรัฐฯ รวมถึงจีดีพีไตรมาส 1/66 ของสหรัฐฯ และยูโรโซน


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • หุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงสั้นๆต้นสัปดาห์ ตามตลาดหุ้นภูมิภาค ก่อนจะร่วงลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ เนื่องจากไร้ปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุน ประกอบกับตลาดประเมินว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในการประชุมช่วงต้นเดือนพ.ค. ขณะที่กลุ่มนักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาขายสุทธิหุ้นไทยอีกครั้ง สำหรับสัปดาห์นี้ หุ้นไทยปรับตัวลงทุกอุตสาหกรรม โดยกลุ่มพลังงานร่วงลงหนักสุด เนื่องจากมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากราคาน้ำมันในตลาดโลกย่อตัวลง อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มแบงก์มีแรงซื้อคืนช่วงท้ายสัปดาห์ หลังแบงก์หลายแห่งรายงานผลประกอบการล่าสุดค่อนข้างดี แม้ระหว่างสัปดาห์จะเผชิญแรงกดดันจากประเด็นการปล่อยสินเชื่อแก่บริษัทรายหนึ่งซึ่งเลื่อนส่งงบการเงิน
  • สัปดาห์ที่ 24 -28 เม.ย. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,540 และ 1,520 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,570 และ 1,600 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนมี.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนมี.ค. ของสหรัฐฯ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/66 ของสหรัฐและยูโรโซน การประชุม BOJ ตลอดจนผลประกอบการงวดไตรมาส 1/66 ของบจ.ไทย

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น