Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 กรกฎาคม 2566

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 17-21 ก.ค. 66)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทแข็งค่าผ่านแนว 34.00 ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนที่ 33.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะลดช่วงบวกและอ่อนค่ากลับมาบางส่วนปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินเอเชียและการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ถูกกดดันในช่วงแรกจากการคาดการณ์ว่า แม้เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม FOMC วันที่ 25-26 ก.ค. นี้ แต่ก็อาจจะเป็นการปรับขึ้นครั้งสุดท้ายของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ นอกจากนี้เงินบาทยังมีแรงหนุนจากสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของต่างชาติ ขณะที่นักลงทุนตอบรับการเดินหน้าของกระบวนการด้านการเมือง อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกลงบางส่วนปลายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นตามบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ โดยมีแรงหนุนจากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์แตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน  
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 24-28 ก.ค. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.80-34.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมเฟด (25-26 ก.ค.) ECB (27 ก.ค.) และ BOJ (27-28 ก.ค.) สถานการณ์การเมืองไทย และสัญญาณเงินทุนต่างชาติ อัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือนมิ.ย. ของสหรัฐฯ ดัชนี PMI เดือนก.ค. (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ และตัวเลขกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย. ของจีน


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยหุ้นไทยขยับขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ ซึ่งนอกจากความหวังว่าเฟดใกล้จะยุติวัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ยังมีแรงหนุนจากการคาดการณ์ว่า กระบวนการด้านการเมืองยังคงเดินหน้าต่อ อย่างไรก็ดี กรอบการปรับขึ้นของหุ้นไทยถูกจำกัดในช่วงท้ายสัปดาห์ เนื่องจากสถานการณ์การเมืองในประเทศยังมีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มแบงก์เผชิญแรงเทขาย หลังมีการรายงานผลประกอบการไตรมาส 2/2566 ออกมาในช่วงปลายสัปดาห์
  • สัปดาห์ที่ 24-28 ก.ค. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,505 และ 1,485 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,545 และ 1,570 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (25-26 ก.ค.) ECB (27 ก.ค.) และ BOJ (27-28 ก.ค.) ตัวเลขส่งออกเดือนมิ.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์การเมืองในประเทศ ผลประกอบการไตรมาส 2/66 ของบจ.ไทย ตลอดจนดัชนี PMI เดือนก.ค. (เบื้องต้น) ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยูโรโซนและอังกฤษ

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น