Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 กุมภาพันธ์ 2566

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 20-24 ก.พ. 66)

คะแนนเฉลี่ย

​สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือน โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ ก่อนจะทยอยอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ตามทิศทางสกุลเงินเอเชีย สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่กลับมาแข็งค่าขึ้น โดยมีปัจจัยบวกจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่คาด ซึ่งสนับสนุนแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในหลายๆ รอบการประชุมข้างหน้าของธนาคารกลางสหรัฐฯ  นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ และการอ่อนค่าลงของเงินหยวนท่ามกลางสัญญาณตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 27 ก.พ. – 3 มี.ค. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.50-35.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ทิศทางเงินลงทุนของต่างชาติและการเคลื่อนไหวของสกุลเงินเอเชีย ตัวเลขการส่งออกและรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนม.ค.ของไทย ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนก.พ. ของสหรัฐฯ จีน ยูโรโซน และอังกฤษ ตลอดจนอัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ. ของยูโรโซน


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีตลาดหุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากแรงซื้อคืนหุ้นกลุ่มแบงก์และไฟแนนซ์ รวมถึงความชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นการเมือง หลังนายกฯ ประกาศจะยุบสภาช่วงต้นมี.ค. เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป อย่างไรก็ดี หุ้นไทยพลิกร่วงในเวลาต่อมาตามทิศทางหุ้นภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนกลับมากังวลเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยของเฟด ขณะที่บันทึกประชุมเฟดสะท้อนว่าเฟดยังมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อ นอกจากนี้ผลประกอบการของบจ. ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ก็มีส่วนกดดันบรรยากาศหุ้นไทยช่วงปลายสัปดาห์เช่นเดียวกัน
  • สัปดาห์ที่ 27 ก.พ. – 3 มี.ค. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,620 และ 1,595 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,645 และ 1,670 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนม.ค. ของไทย ประเด็นการเมืองภายในประเทศ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ดัชนี ISM/PMI เดือนก.พ. ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน ยูโรโซน รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.พ. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น