Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 พฤษภาคม 2567

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 20-24 พ.ค. 67)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทพลิกกลับมาแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์ที่ 36.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์สอดคล้องกับการดีดตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในอิหร่าน ประกอบกับน่าจะมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 1/67 ของไทยซึ่งขยายตัวมากกว่าคาด และจากแรงซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาอ่อนค่าในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ และแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์ที่ 36.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับภาพรวมของสกุลเงินเอเชีย และการกลับมาร่วงลงของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นตามแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ (อาทิ ดัชนี Composite PMI เดือนพ.ค. 67 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์) ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ประกอบกับสัญญาณจากเฟดยังคงสะท้อนความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้เฟดจะยังไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตอันใกล้
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 27-31 พ.ค. 2567 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 36.40-37.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนเม.ย.ของธปท. ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด รายงาน Beige Book ของเฟด ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 (Second Estimate) และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือนเม.ย. ของสหรัฐฯ ข้อมูลกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. และข้อมูล PMI เดือนพ.ค. ของจีน รวมถึงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ของยูโรโซน


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงหลังปิดบวกติดต่อกันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ทั้งนี้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงตลอดสัปดาห์ ท่ามกลางแรงขายสุทธิของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ โดยมีปัจจัยลบจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจไทย หลังสศช. ปรับประมาณการจีดีพีไทยสำหรับปี 2567 เหลือ 2-3% จากเดิม 2.2-3.2% ความกังวลเกี่ยวกับประเด็นการเมืองภายในประเทศ และความเป็นไปได้ที่เฟดจะคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานาน หลังเจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณกังวลต่อสถานการณ์เงินเฟ้อ ประกอบกับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่น ดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเดือนพ.ค. ออกมาดีกว่าคาด ปัจจัยลบข้างต้นกระตุ้นให้เกิดแรงขายทำกำไรในหุ้นทุกกลุ่มอุตสาหกรรม นำโดยพลังงาน อสังหาริมทรัพย์และไฟแนนซ์
  • สัปดาห์ที่ 27-31 พ.ค. 2567 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,350 และ 1,340 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,375 และ 1,385 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2567 (ครั้งที่ 2) และดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนเม.ย. ของสหรัฐฯ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพ.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนพ.ค. ของจีน รวมถึงยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย.ของญี่ปุ่น


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น