Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 กรกฎาคม 2566

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 24-27 ก.ค. 66)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่าในช่วงต้นสัปดาห์ตามจังหวะขายสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ตลาดยังคงรอติดตามปัจจัยทางการเมืองของไทยอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี เงินบาทเริ่มดีดตัวกลับมาแข็งค่าในช่วงกลางสัปดาห์ โดยมีปัจจัยบวกบางส่วนจากตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนมิ.ย. (ที่หดตัวน้อยกว่าคาดการณ์ของตลาด) และยังคงแข็งค่าได้ต่อเนื่องหลังการประชุมเฟด โดยแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 สัปดาห์ที่ 34.03 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขาย เพราะตลาดยังคงไม่ได้ให้น้ำหนักมากนักกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี แม้ท่าทีของประธานเฟดจะยังคงเปิดโอกาสสำหรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในระยะข้างหน้าเพื่อสกัดแรงกดดันเงินเฟ้อก็ตาม   
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 31 ก.ค. – 4 ส.ค. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมกนง. BOE และ RBA สถานการณ์การเมืองไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ข้อมูลตลาดแรงงานเดือนก.ค. ของสหรัฐฯ ดัชนี PMI เดือนก.ค. ของสหรัฐฯ จีน ยูโรโซน และอังกฤษ ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 และอัตราเงินเฟ้อเดือนก.ค. ของยูโรโซน


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นก่อนปิดหยุดยาว ทั้งนี้หุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบเกือบตลอดสัปดาห์ระหว่างรอติดตามสถานการณ์การเมืองในประเทศและผลการประชุมของเฟดอย่างใกล้ชิด ขณะที่กลุ่มนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยอย่างหนักในช่วงต้นสัปดาห์ โดยเฉพาะหุ้นแบงก์ที่ผลประกอบการไตรมาส 2/66 ออกมาน่าผิดหวัง อย่างไรก็ดี หุ้นไทยดีดตัวขึ้นในช่วงท้ายสัปดาห์ก่อนปิดหยุดยาวตามทิศทางหุ้นต่างประเทศ เนื่องจากตลาดประเมินว่าเฟดใกล้จะยุติวัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว แม้ว่าเฟดจะมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยตามคาดในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. พร้อมส่งสัญญาณอาจขึ้นดอกเบี้ยอีกก็ตาม
  • สัปดาห์ที่ 31 ก.ค. – 4 ส.ค. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,520 และ 1,500 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,555 และ 1,570 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมกนง. (2 ส.ค.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์การเมืองในประเทศ ผลประกอบการไตรมาส 2/66 ของบจ.ไทย ข้อมูลตลาดแรงงานเดือนก.ค. ของสหรัฐฯ ดัชนี PMI เดือนก.ค. ของสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และยูโรโซน ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 และอัตราเงินเฟ้อเดือนก.ค. ของยูโรโซน

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น