Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 มกราคม 2563

Econ Digest

หนี้ครัวเรือนไทยปี 63... อาจแตะ 80% ต่อ GDP

คะแนนเฉลี่ย

​            หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนขยับขึ้นมาที่ 79.1% ต่อจีดีพีในไตรมาส 3/2562 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี โดยสัญญาณหนี้ครัวเรือนสูงจากข้อมูลระดับภาพรวมทั้งประเทศ สอดคล้องกับผลสำรวจสถานการณ์หนี้สินและเงินออมของครัวเรือนปี 2562 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งพบว่า 44% ของผู้กู้-ครัวเรือนที่มีหนี้ มีภาระหนี้หรือเป็นหนี้เพิ่มขึ้น 

             ทั้งนี้ ผลสำรวจฯ ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยรอบนี้พบว่า ผู้กู้-ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้หลายประเภทพร้อมกัน และโดยมากมีภาระผ่อนหนี้กับสถาบันการเงิน 2-3 ก้อนพร้อมกัน ต่างจากผลสำรวจฯ รอบก่อนที่ส่วนใหญ่จะมีภาระผ่อนหนี้ 1-2 ก้อนพร้อมกัน โดยนอกจากหนี้บัตรเครดิตแล้ว หนี้ที่เพิ่มขึ้นส่วนมากมาจากหนี้รถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่า ภาพรวมครัวเรือนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) เฉลี่ยที่ 39.4% ของรายได้ต่อเดือน มีรายจ่ายในชีวิตประจำวันราว 48% ของรายได้ต่อเดือน ซึ่งเท่ากับว่า เงินสำหรับออม-ลงทุน หรือเก็บไว้ยามฉุกเฉินมีสัดส่วนเพียง 12% ของรายได้เท่านั้น อีกทั้งยังพบว่า ผู้กู้-ครัวเรือนหลายกลุ่มมีสัดส่วน DSR สูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม GenY และผู้รายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนที่มีสัดส่วน DSR อยู่ที่ 42.0% และ 42.7% ตามลำดับ สัญญาณดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อมูลภาพรวมในระดับประเทศ ซึ่งสะท้อนว่า ผู้กู้-ครัวเรือนกลุ่มนี้ต้องระมัดระวังในการใช้จ่ายและการก่อหนี้เพิ่มเติม

            ​สำหรับปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หนี้ครัวเรือนอาจเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอาจขยับขึ้นไปอยู่ในกรอบประมาณ 80.0-81.5% ต่อจีดีพี สำหรับประเด็นต้องติดตามคือแนวทางการเข้าดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เป็นโจทย์ท้าทายในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และมีความซับซ้อนตามพฤติกรรมและเงื่อนไขที่เป็นสาเหตุให้ครัวเรือนแต่ละกลุ่มเป็นหนี้


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest