Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 พฤศจิกายน 2562

Econ Digest

NTMs กีดกัน หรือ ตัวช่วย?

คะแนนเฉลี่ย

​          ภายใต้สภาวะการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงจากนโยบายการเปิดการค้าเสรีที่ส่งเสริมการเกิด Global Supply Chain ในขณะเดียวกันประเทศผู้นำเข้าส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้ปรับเปลี่ยนไปสู่การยกระดับมาตรฐานสินค้าเพื่อตอบโจทย์ด้านสุขภาวะมนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measures: NTMs) เป็นกลไกหนึ่งในการคัดกรองสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ปัจจุบันมีการใช้ NTMs หลากหลายรูปแบบในกว่า 91 ประเทศทั่วโลก โดยกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหวด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยสูง ส่งผลให้ไทยในฐานะประเทศส่งออกสินค้าเกษตรหลัก คิดเป็นสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ในช่วงปี 2558-2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 16.89% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด จำเป็นต้องเร่งปรับตัวอย่างต่อเนื่องตามการใช้ NTMs ที่มีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นในอนาคต

           ตลาดส่งออกสินค้าเกษตรหลักของไทย ได้แก่ ภูมิภาคอาเซียน ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าสหภาพยุโรปเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่มุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานสินค้าเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ที่ผ่านมาสหภาพยุโรปได้กำหนดมาตรการ NTMs สำหรับสินค้าเกษตรในหลากหลายรูปแบบ แต่ยังคงส่งผลกระทบต่อการส่งออกพืชผลทางการเกษตรของไทยในวงจำกัด ซึ่งจะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกพืชผลทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง เช่น อาหารปรุงแต่ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป/สำเร็จรูปสำหรับการบริโภคของมนุษย์ และวัตถุดิบการผลิตอาหารสัตว์ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยอยู่ที่ 2.0% (CAGR) อย่างไรก็ดี มาตรการ NTBs จะเป็นแรงกดดันเพิ่มเติมต่อภาคเกษตรกรรมและส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ทั้งจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นและการพัฒนาองค์ความรู้ในการผลิต โดยเฉพาะด้านมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าเกษตร กลุ่มสหภาพยุโรปได้ให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures) ของพืชผลทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องที่ใช้ในการบริโภคของมนุษย์และผลิตอาหารสัตว์ ในที่นี้จะกล่าวถึงการกำหนดระดับปริมาณสารตกค้างที่ยอมรับได้สูงสุด (Maximum Residue Levels) สำหรับสินค้าเกษตรแต่ละชนิด ซึ่งปัจจุบันครอบคลุม 315 สินค้า และมากกว่า 1,100 สารเคมี

            อีกทั้งแนวโน้มระดับปริมาณสารตกค้างที่ยอมรับได้สูงสุดโดยทั่วไปยังปรับลดลงต่อเนื่อง ในทางหนึ่งมาตรการ NTBs ดังกล่าวอาจถูกมองว่าเป็นการกีดกันทางการค้ารูปแบบหนึ่ง แต่หากประเทศผู้ผลิตเตรียมการรับมือแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตและปรับตัวรับมือได้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการจัดการผลิตที่ดีการเลิก/ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรของไทยซึ่งกดดันให้ภาคเกษตรกรรมไทยต้องปรับตัว ในอีกมุมหนึ่งผลของมาตรการ NTBs อาจเปลี่ยนเป็นปัจจัยส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยในระยะยาว และเป็นโอกาสในการยกระดับสินค้าเกษตรไปสู่กลุ่มสินค้าออร์แกนิก สินค้าปลอดสารเคมีที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าเพื่อให้ไทยยังสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวไว้ได้ อย่างไรก็ดี มีความจำเป็นต้องประเมินผลดี ผลเสียของมาตรการที่เกี่ยวข้องให้รอบด้านเพื่อให้เกิดการพัฒนากระบวนการผลิตทั้งห่วงโซ่








Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest